บ้านวุ้งกะสังสืบทอดวัฒนธรรม
ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน เนื่องจากง่ายต่อการขึ้นรูปเป็นมีดชนิดต่างๆ อาศัยความชำนาญในการลงค้อนทุบเหล็ก รวมถึงหลอมเหล็กด้วยเตาหลอมแบบสูบลมโบราณ ซึ่ง ไทย ท้วมบัว วัย 60 ปี สืบทอดมาจากบรรพบุรุษตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร สร้างเตาและปลูกโรงตีเหล็กในบ้านวุ้งกะสัง หมู่บ้านปกาเกอะญอ เขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า รับตีมีดอีโต้ มีดอีเหน็บ มีดขอ จอบ เสียม
เกือบ 30 ปี ที่มาเป็นเขยปกาเกอะญอ อดีตช่างตีมีดใช้ชีวิตเรียบง่าย และร่วมกิจกรรมประเพณีของชุมชนเสมอ รวมถึงไม่ทิ้งภูมิปัญญาตีเหล็ก ที่ยังจำเป็นต่ออาชีพทำสวนทำไร่ของชาวบ้านในที่แห่งนี้
วุ้งกะสัง หมายถึงท้องกระทะที่มีแนวเขาล้อมรอบ ซึ่งถ้าเข้ามาที่บ้านวุ้งกะสัง ชุมชนปกาเกอะญอในป่าอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในช่วงหน้าฝนนี้ ในหมู่บ้านจะเงียบเพราะว่าหลายคนจะออกไปทำไร่ ส่วนผู้หญิงที่อยู่กับบ้าน ทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวันกันแทบทุกบ้าน
ว่างจากงานในไร่มัน มะเต แสงทองศรี ชาวไทยเชื้อสายปกาเกอะญอ มักให้เวลากับการทอผ้าไว้ใช้กันในครอบครัว ความคุ้นเคยกับเครื่องทอมือมาเกือบ 40 จึงใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น ในการทอย่ามที่ถือเป็นของใช้คู่กาย ปกาเกอะญอยามออกจากบ้าน
แม้งานทอผ้าด้วยมือในคนรุ่นใหม่จะมีไม่มากนัก แต่ธรรมเนียมการทอผ้ามอบให้ลูกหลังแต่งงานยังมีอยู่ โดยในทุกวันฉลองสงกรานต์ เสื้อผ้าที่เก็บใส่กล่องอย่างดี จะถูกนำมาตากแดดปีละครั้ง ซึ่งครอบครัวแสงทองศรี และเกือบทุกบ้านยังรักษาวิถีเหล่านี้อยู่
มะเต แสงทองศรี ชาวบ้านวุ้งกะสัง จ.กำแพงเพชร บอกว่า ในอดีตหญิงปกาเกอะญอจะต้องทอผ้าเป็น แม้ทุกวันนี้ชาวบ้านจะใส่เสื้อผ้าตามสมัยเป็นส่วนใหญ่ แต่ในทุกงานประเพณีสำคัญชุมชน ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าแสดงเอกลักษณ์
ระยะทางไกลกว่า 35 กิโลเมตร และตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทำให้เส้นทางในหมู่บ้านวุ้งกะสังยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก และต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หากแต่อาจเป็นข้อดีที่ทำให้ที่นี่ยังคงรักษาวิถีเดิมของการอยู่กับป่าอันเป็นวัฒนธรรมพึ่งพาธรรมชาติของปกาเกอะญอ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: