รำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516
เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมจัดเวทีรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยเห็นว่า พลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คือ ความร่วมมือจากภาคส่วน 3 ฝ่าย ได้แก่ กรรมกร, ชาวนา และนักศึกษา นอกเหนือจาการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง เพราะปัจจุบัน ไทยกำลังประสบปัญหาค่าครองชีพสูง ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ต้องการพลังคนเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนแก้ปัญหา
การต่อสู้ภาคประชาชน หลังช่วงเหตุการณ์ "14 ตุลา" ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มอาชีพหลากหลาย เช่น สภาแรงงานลูกจ้าง สหพันธ์ชาวไร่ชาวนา สมัยนั้น เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องราคารับจำนำเข้าว แต่ทั้งหมดมีพลังของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ร่วมสนับสนุนหลัก แต่ปัจจุบัน พลังของนักศึกษาอาจให้ความสนใจเฉพาะเรื่องที่เป็นปัจเจกบุคคล
ขณะที่องค์กรสื่อมวลชน จัดเสวนารำลึก 40 ปี 14 ตุลา หัวข้อ "เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย" โดยสะท้อนว่า ขณะนี้สื่อสารมวลชน ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ และองค์กรสื่อต่างก็แสวงหาทุนสนับสนุนเพื่อให้องค์กรมั่นคง โดยอาจทำให้ตรวจสอบประเด็นที่กระทบต่อผู้สนับสนุนได้ไม่เต็มที่ และอาจไม่เสนอประเด็นข่าวที่เป็นผลกระทบกับผู้สนับสนุน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ซื้อพื้นที่สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้น ทำให้องค์กรสื่อถูกแทรกแซงได้ง่ายขึ้น สัปดาห์หน้า องค์กรสื่อจึงเตรียมร่วมทำบันทึกข้อตกลงกับ 7 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในกลไกลการตรวจสอบให้มากขึ้น
ปีนี้ (56) เป็นปีแรกที่มีการแยกจัดงาน14 ตุลา ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยกลุ่มที่แยกตัวออกมาจัดเป็นครั้งแรก คือ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่มีนายจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นประธานจัดงานที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายจรัล ยอมรับว่า แม้ความเห็นต่างทางการเมืองจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จำเป็นต้องแยกตัวออกมาจัดงาน แต่ยังคงต้องการให้สังคมได้ตระหนักถึงการขับเคลื่อนของนักศึกษาและประชาชน ที่มีบทบาทสำคัญการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยเป็นอุปสรรคที่หยั่งรากลึก
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 1 ในคนเดือนตุลา ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ประเทศไทยว่า แม้จะผ่านมานานกว่า 40 ปี แต่จุดเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่จะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการสร้างความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งกำลังถูกแทรกแซงจากตุลาการภิวัฒน์
และที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก คือ การกล่าวปาฐกถาของ รศ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตแกนนำนักศึกษา ยุค 14 ตุลา 16 ที่มองว่า ประชาชนควรเป็นพลังสนับสนุนประชาธิปไตยโดยปราศจากความชื่นชอบทางการเมือง เพื่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และสิ่งสำคัญคือการยอมรับความเห็นต่างทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ สำหรับ รศ.เสกสรรค์ ได้รับความสนใจไม่น้อย หลังมีชื่อขึ้นกล่าวปาฐกถาให้กับการจัดงาน 14 ตุลา ทั้ง 2 เวที
ขณะที่เวทีรำลึกและเชิดชูเกียรติ ครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ประชาธิปไตย ของวุฒิสภา ศ.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. กล่าวปาฐกถาพิเศษ ถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย โดยระบุว่า ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมของไทยยังไร้ประสิทธิภาพ คุกคามสิทธิ และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
โดยเฉพาะการปฏิรูปศาลพิจารณา เช่น ศาลอุทธรณ์ หากยังมีต้องให้เป็นศาลพิจารณา ศาลฎีกาต้องเป็นศาลทบทวนข้อกฎหมาย รวมทั้งต้องทำความเข้าใจแก่บุคลากรในองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ถึงเนื้อหาและเหตุผลที่ต้องปฏิรูป
แท็กที่เกี่ยวข้อง: