วันนี้ (6 ก.ค.2564) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า กรณีอุบัติเหตุเพลิงไหม้และเกิดการระเบิดของโรงงานผลิตโฟมพอลิสไตรีน ในซอยกิ่งแก้ว 21 จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ค.2564
ด้วยขนาดของโรงงานที่มีสารเคมีกว่า 2,000 ตัน จึงก่อให้เกิดกลุ่มควันพุ่งสูงต่อเนื่องนานนับสิบชั่วโมง ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่ตั้งโรงงานดังกล่าว พบอยู่ในพื้นที่สีแดงสำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
ดังนั้น ขั้นตอนการดับเพลิงไหม้ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้ "โฟมดับเพลิง" เท่านั้น เนื่องจากเป็นสารเคมีสำหรับควบคุมเพลิงโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะ
อีกทั้งยังไม่สามารถใช้น้ำฉีดดับเพลิงได้อย่างทั่วไป เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารสไตรีนเข้าสู่บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติได้ง่ายและรวดเร็ว
ทั้งนี้ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก คือสไตรีนมอนอเมอร์ เป็นของเหลว ไฮโดรคาร์บอนประเภทสารอะโรมาติก ที่อุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส สามารถติดไฟได้ง่าย
จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ อะโรมาติก ที่ระเหยง่าย เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจในกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง หรือเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางเดินหายใจ
ดังนั้น หากถูกเผาไหม้จะเกิดควันดำหนาแน่นกว่าสารอินทรีย์ทั่วไป สำหรับการรั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก EPS ยังจำเป็นต้องใช้สารช่วยทำให้เกิดฟอง ที่เป็นสารไฮโดรคาร์บอนน้ำหนักโมเลกุลต่ำจัดเป็นสารไวไฟ เช่น บิวเทน เพนเทน เฮกเซน และเฮปเทน
ดังนั้น ในระหว่างดำเนินการดับเพลิงต้องเพิ่มความระมัดระวังในส่วนของบริเวณที่จัดเก็บวัตถุดิบไวไฟเหล่านี้อีกด้วย
นอกจากนี้ สภาวิศวกร เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ฐานข้อมูลดิจิทัล หรือบิ๊กเดต้า คุณภาพอากาศของสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สจล.ที่มีเซ็นเซอร์ติดตามข้อมูลระดับคุณภาพอากาศและแจ้งเตือนปัญหามลพิษในกรุงเทพฯ
พร้อมแสดงข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ อาทิ ค่าฝุ่น PM2.5 PM 10 ค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อวางแผนช่วยเหลือหรืออพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพในระบบทางเดินหายใจออกจากพื้นที่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรได้อย่างปลอดภัย
แท็กที่เกี่ยวข้อง: