วันนี้ (8 ก.ค.2564) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงมาตรการควบคุม COVID-19 ที่จะเสนอให้ ศบค.พิจารณา
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุม EOC โดยเมื่อเช้าพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 7,058 คน เสียชีวิต 75 คน และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวม 280,000 คน
ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล และแพร่ไปยังต่างจังหวัด สะท้อนว่ามีการติดเชื้อและมีผู้ขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อจำนวนมาก อีกทั้ง รพ.บุษราคัม มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวเพิ่มขึ้นหลักพันคน และแนวโน้มการใช้เตียงเพียงขึ้น รวมทั้งไอซียูด้วย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาวะโหลดงานและเหนื่อยล้า สธ.พยายามหามาตรการดูแลควบคุมโรค
นอกจากนี้ จะนำเรื่องการตรวจเชื้อด้วย Rapid Antigen Test มาใช้ในสถานพยาบาลมากขึ้น เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็ว แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพียงอย่างเดียว ที่ต้องใช้เวลานาน 3-5 ชม. หรือบางครั้งผลกว่าจะออกก็ข้ามวัน โดยวิธีการตรวจ Rapid Antigen Test จะใช้เวลาเพียง 20 นาที แต่หากผลเป็นบวกต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีกครั้ง
หากพบว่า มีอาการป่วยเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ก็จะใช้วิธีการรักษาแบบ Home Isolation ร่วมกับ Community Isolation และหากรับการรักษาใน รพ.ครบ 10 วัน ก็ให้กลับมา Home Isolation ที่บ้านจนครบ

ทั้งนี้ ได้ปรับเกณฑ์ Home Isolation ให้สามารถปฏิบัติได้ง่าย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการติดเชื้อครอบครัว จากเดิม Home Isolation ต้องแยกกักลำพัง สามารถอยู่ได้ภายในครอบครัว แต่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลและสังคม ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง
ส่วนมาตรการบุคคล กรมควบคุมโรคใช้คำว่า บับเบิ้ลแอนด์ซีลตนเอง เพราะขณะนี้พบการติดเชื้อจำนวนมากภายในครอบครัว และที่ทำงาน รวมทั้ง work from home ให้ได้ร้อยละ 70 เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
นอกจากนี้ จะเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ไม่ต่ำกว่า 80% เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งนี้ จะฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภายใน 1-2 สัปดาห์ มากกว่า 1 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ฉีดไปแล้ว 4 ล้านโดส
ที่สำคัญ สธ.จะเสนอ ศบค.ยกระดับมาตรการทางสังคมโดยจำกัดการเดินทาง ต้องการให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหสถานโดยไม่จำเป็น เว้นซื้ออาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน รวมทั้งห้ามเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งเสนอปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือดำเนินกิจกรรมไม่จำเป็น เว้นตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยจะใช้มาตรการดังกล่าวในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่จำเป็นอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งได้เสนอ ศปก.ศบค. ในวันนี้ (8 ก.ค.) เพื่อเสนอ ศบค.ต่อไป
เป็นมาตรการสำคัญที่ สธ.อยากจะเร่งเสนอ ลดการะบาดใน กทม.และปริมณฑล เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและผ่านการระบาดนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ปลัด สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เสนอจำกัดการเดินทางและปิดสถานที่ โดยพยายามให้อยู่บ้าน ซึ่งมาตรการครั้งนี้น่าจะมีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าช่วงเดือน เม.ย.2563
หลักการ คือ จำกัดการเดินทางและปิดพื้นที่เสี่ยงสีแดง เคยพิสูจน์ว่าใช้ระบบกันชนในการควบคุมโรคได้ผลดี การเดินทางข้ามจังหวัดจะทำได้ยาก และมีกันชนเพิ่มมาอีก
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค การใช้มาตรการดังกล่าว ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีน คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยจะลดลงภายใน 2 สัปดาห์