เรากลับมาเพราะมีหลายร้านบอกว่ากำลังจะไม่ไหว แต่เราก็กลับมาช้าเกินไป เพราะมีอีกหลายร้านที่ปิดตัวไป เรากลับมาช่วยเขาไว้ไม่ทัน
เสียงสันเครือของ "ปาริชาต มั่นสกุล" หรือ ปลา ผู้ก่อตั้งโครงการ "ปันอิ่ม" ตอกย้ำความปวดร้าวและความสูญเสียของคนอีกหลายชีวิตที่ต่อสู้จนหมดกำลังกับสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่
หลายร้านกำลังจะหมดหวังทิ้งธุรกิจที่สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงหลายสิบปี หลายร้านมองไม่เห็นแม้แต่เงาลูกค้าที่เดินผ่านไปมา เป็นจุดเริ่มต้นให้โครงการปั่นอิ่มเริ่มติดต่อร้านอาหารในชุมชน เพื่อนำเงินไปจ่ายแต่ไม่รับอาหาร เหมือนการซื้อล่วงหน้า แล้วให้ร้านแจกอาหารที่จ่ายเงินแล้วให้คนลำบากได้กิน

ความช่วยเหลือที่ไม่สิ้นสุดเริ่มปรากฏชัดในวันมืดมนของใครหลายคน "ปาริชาต" เล่าด้วยรอยยิ้มว่า คนทั่วไปที่ไปร้านอาหารในชุมชนแล้วพบว่ามีโครงการปันอิ่มก็ได้ร่วมปั่นอิ่ม จ่ายค่าข้าวล่วงหน้าไว้ให้คนลำบากได้กินด้วย ส่วนร้านอาหารเมื่อมีคนมาขอข้าวก็แบ่งปันน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย หรือสิ่งของจำเป็นเพิ่มเติม เหมือนการเติมกำลังใจให้กันในช่วงวิกฤต

สถานการณ์ COVID-19 เริ่มขึ้น ๆ ลง ๆ ต่อเนื่องยาวนาน แต่ความช่วยเหลือของคนไทยหลั่งไหลไม่ขาดสาย ตั้งแต่เดือนกลาง เม.ย.2563 เงินบริจาคผ่านโครงการเข้ามาช่วยพยุงร้านค้าที่เข้าร่วมไว้ได้กว่า 50 ร้าน และช่วยปั่นอิ่มให้คนที่กำลังหิวไปแล้วกว่า 24,000 อิ่ม แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง "โครงการปั่นอิ่ม" ดำเนินการจนถึงวันที่ 77 ก็ได้หยุดไปชั่วคราว

สานต่อ "ปั่นอิ่ม" อีกครั้ง ต่อลมหายใจร้านอาหาร
ท่ามกลางการระบาดที่ทวีความรุนแรง ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงจนกระทรวงสาธารณสุขปรับแผนให้รักษาที่บ้าน Home Isolation หรือชุมชน Community Isolation รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการเข้มส่งผลให้ร้านอาหารกลับมาซบเซาอีกครั้งจนหลายคนแทบจะไปต่อไม่ไหว โครงการ "ปั่นอิ่ม" จึงกลับมาอีกครั้ง
ร้านอาหารต้องการรายได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้กินข้าวตลอดทั้งวัน เราอยากเป็นสื่อกลางช่วยคนสองต่อ เราช่วยเขาซื้อข้าว เขาเอาข้าวไปให้คนยากไร้ คนกักตัวในชุมชน สร้างระบบให้ชุมชนช่วยเหลือกันและกัน

"ณชา อนันต์โชติกุล" หรือ โบว์ เพื่อนร่วมทีมปั่นอิ่ม บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า โครงการปั่นอิ่มกลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมรวบรวมร้านอาหารที่กำลังลำบากให้มีรายได้ในแต่ละวัน ล่าสุด มีร้านเข้าร่วมโครงการแล้ว 29 ร้าน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับชุมชนที่ต้องการอาหารให้ผู้ติดเชื้อ คนกักตัว รวมถึงคนลำบากได้กินซึ่งได้ปันอิ่มต่อเนื่องมากกว่า 9 ชุมชน
ร้านจะไปส่งอาหารในจุดเดียว แล้วผู้นำชุมชนจะให้คนมารับอาหารไปแจกจ่ายต่อใน 9 ชุมชน เรายังแบ่งร้านบางพื้นที่ไว้ทำอาหารส่งไปยังชุมชนที่ความช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง ที่ไหนกำลังเดือดร้อนเราจะมูฟไปทันทีเพื่อให้เขาได้อิ่มท้องก่อน

ก้าวใหม่ของปันอิ่มครั้งนี้ มาพร้อมกับกราฟิกในรูปแบบที่ใครหลายคนคุ้นเคย แต่มีการปรับโทนสีให้อ่อนลง กับแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนข่าวร้ายเป็นการส่งต่อข่าวดีให้ทุกคนมีกำลังใจผ่านการปั่นอิ่มรายวัน อย่างเมื่อวานนี้ โครงการปันอิ่มได้ช่วยเหลือผู้คนไป 750 อิ่ม รวมปั่นอิ่มสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็น 6,555 อิ่ม ยอดบริจาคเพิ่ม 69,199 บาท ยอดคงเหลือ 151,295 บาท สะท้อนภาพการส่งต่อความช่วยเหลือที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน
หวังเป็นโมเดลปันอิ่ม กระจายความช่วยเหลือ
แม้จะช่วยสร้างรายได้ให้แต่ละร้านไม่มากนัก โดยจ่ายค่าอาหารไว้ขั้นต่ำวันละ 30 กล่อง แต่โครงการปันอิ่มก็ให้คำมั่นไว้ว่าจะช่วยประคับประคองกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าทุกร้านยืนด้วยตัวเองไหว แล้วสานต่อร้านตัวเองให้ทำการค้าได้หลังวิกฤต COVID-19 หรือจนกว่าเงินบริจาคจะหมด

แต่ทั้ง "ปาริชาต และ ณชา" สองสาวเพื่อนร่วมปันอิ่ม หวังว่า โครงการนี้จะเป็นโมเดลให้ใครอีกหลายคนที่พอจะมีกำลังลุกขึ้นมาช่วยกันกระจายความอิ่ม ส่งความช่วยเหลือต่อลมหายใจให้ใครอีกหลายชีวิตในช่วงสถานการณ์ COVID-19
แท็กที่เกี่ยวข้อง: