วันนี้ (23 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหา COVID-19 ในเมียนมา ถูกซ้ำเติมด้วยการพุ่งเป้าจับกุมบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองใหญ่ สะท้อนให้เห็นจากการให้ข้อมูลของแพทย์เมียนมา องค์กรการกุศล ผ่านสื่อหลายสำนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ตัวอย่างเช่น การให้แพทย์อาสาเดินทางไปที่อาคารแห่งหนึ่ง โดยบอกว่ามีผู้ป่วย COVID-19 จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวแพทย์กลุ่มนี้ไว้ แม้ว่าคณะทำงานด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลจะปฏิเสธภายหลังว่า รายงานข่าวของอิรวดีไม่เป็นความจริง แต่เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
นอกเหนือจากการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ รัฐบาลทหารเมียนมายังถูกกล่าวหาว่าขัดขวางไม่ให้ส่งออกซิเจนไปยังสถานพยาบาลเอกชน เนื่องจากสถานพยาบาลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทำงานของแพทย์ที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร
ความเดือดร้อนของประชาชน สะท้อนให้เห็นจากภาพของการปักธงสีเหลืองไว้หน้าบ้าน คล้ายกับแคมเปญปักธงขาวของมาเลเซีย การส่งสัญญาณผ่านสีของธงแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ธงเหลือง และธงเหลืองคู่กับธงขาว
ธงเหลืองผืนเดียว หมายถึง บ้านหลังนี้มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 และต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่หากมีธงขาวด้วยหมายถึงต้องการทั้งความช่วยเหลือทางการแพทย์ รวมทั้งอาหารและน้ำดื่ม กลายเป็นสิ่งตอกย้ำว่า ผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม

ขณะที่ผู้ติดเชื้อใหม่ทำสถิติสูงกว่า 6,700 คน และมีผู้เสียชีวิตอีกไม่ต่ำกว่า 300 คน ตัวเลขเหล่านี้อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการตรวจหาเชื้อในเมียนมายังไม่ทั่วถึง ส่วนฌาปนสถานบางแห่งในนครย่างกุ้งเต็มไปด้วยผู้เสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเผาร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันละ 400-500 ศพ
ขณะที่การฉีดวัคซีนของเมียนมาหยุดชะงักไป หลังจากกองทัพทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 จากสถิติเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วมีจำนวน 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 จากประชากรกว่า 54 ล้านคน
แม้ว่ารัฐบาลทหารจะตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรภายในช่วงสิ้นปีนี้ แต่การใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาลอีกต่อไปและเป็นอุสรรคต่อการควบคุมโรค
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: