วันนี้ (18 ส.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ COVID-19 ระบุว่า กทม.และปริมณฑล ยังเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ก่อนจะไปแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชนใกล้ชิด จึงขอให้ทุกคนเร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชน

ขณะเดียวกัน ใน กทม.มีการระดมตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งในโรงงานและสถานประกอบการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งอบรมให้สถานประกอบการใช้ชุดตรวจ ATK ได้อย่างถูกต้อง เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ นโยบายเน้นย้ำให้มี Company Isolation หรือการแยกกักในที่ทำงาน บริษัท หรือสถานประกอบการ โดยใช้หลักการเดียวกับ Factory Isolation หรือ Community Isolation

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการจัดการในสถานที่ทำงานที่มีความพร้อม ดูแลบุคลากรโดยหาที่พักให้พักค้างได้ สิ่งสำคัญคือ ชุมชนต้องรับทราบและยอมรับ รวมถึงมีระบบจัดการขยะ จัดการสถานที่ และจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถดูแลพนักงานที่ป่วยได้ถึง 100 คน ส่วนการดูแลอาการภาครัฐหรือโรงพยาบาลพี่เลี้ยงจะเข้ามาสนับสนุน ขอให้บริษัทและสถานประกอบการเตรียมการตั้งแต่ยังไม่ได้พบผู้ติดเชื้อ
หลายนิคมฯ เริ่มนำร่อง Factory Isolation
ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่กระจายเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในหลายจังหวัด จึงได้สั่งการให้จัดทำคู่มือและแผนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) และมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal โดยให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมเร่งปฏิบัติตามคู่มือและแผนการดำเนินงานเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในโรงงานที่อยู่ในทุกนิคมอุตสาหกรรม
สำหรับมาตรการหลักของการทำ FAI เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจายออกนอกโรงงาน โดยรูปแบบที่เหมาะสมคือต้องมีเตียงไม่น้อยกว่า 10 % ของจำนวนพนักงาน และต้องเพียงพอต่อการแยกกักตัว ต้องมีแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำได้ มีอุปกรณ์ตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน มีแนวทางส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน และมีการดูแลด้านโภชนาการอย่างครบถ้วน

ขณะที่มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมโรค คนที่แข็งแรง หรือสามารถอยู่เป็นกลุ่มย่อยในพื้นที่จำกัด ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้ามีความชุกของการติดเชื้อมากกว่า 10% จะต้องแยกผู้ติดเชื้อออกแล้วให้ส่วนที่เหลือทำงานต่อ และเฝ้าสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยงต่อไป
ทั้งนี้ นิคมฯ ที่เริ่มดำเนินการตามมาตรการนี้ อาทิ นิคมฯ สมุทรสาคร และนิคมฯ สินสาคร จ.สมุทรสาคร นิคมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา และนิคมฯ นครหลวง จ.อยุธยา แต่หลังการหารือร่วมกับ ผอ.นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จะมีการสั่งการให้ทุกสถานประกอบการในทุกนิคมอุตสาหกรรมปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: