จากกรณีที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมทดสอบระบบการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast กำหนดแผนการทดสอบ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็ก (ภายในอาคาร) ระดับกลาง (ระดับอำเภอ) และระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตามแผนการทดสอบนี้จะได้รับข้อความทดสอบการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ไปยังโทรศัพท์มือถือ ทั้งรูปแบบเสียงเตือนและข้อความบนหน้าจอ ในวันที่ 2 พ.ค.2568 7 พ.ค.2568 และ 13 พ.ค.2568
- ปภ.แจงไม่แจ้ง SMS แผ่นดินไหวกระบี่ จ่อทดสอบ Cell Broadcast
- รู้ทันที! "Cell Broadcast" เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยพิบัติใช้กันทั่วโลก

ทั้งนี้ วันแรกของการทดสอบแจ้งเตือนภัยระดับเล็ก ภายในอาคาร ในวันศุกร์ที่ 2 พ.ค.2568 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี, ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร อาคาร A และอาคาร B

ล่าสุด นายประสงค์ ธัมมะปาละ หัวหน้า ปภ.จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นทั้งผ่านเพจเฟซบุ๊ก หน่วยงานราชการ และสื่อท้องถิ่น รวมถึงสาธิตวิดีโอแสดงหน้าจอข้อความแจ้งเตือน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้ ทางอธิบดีกรม ปภ. ได้ประชุมหารือร่วมกับนายกฯ และมีข้อสั่งการเร่งด่วนให้พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยใหม่ โดยใช้ Cell Broadcast เป็นเครื่องมือหลักในการส่งข้อความแบบเฉพาะพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการทดสอบระบบ ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินจริง และกรมฯ ต้องการทราบว่าระบบเข้าถึงประชาชนมากน้อยเพียงใด หรือมีจุดบกพร่องตรงจุดใด เพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป
ปภ.สงขลา มั่นใจซักซ้อมเตือนภัยประชาชนเข้าใจ
ด้านจังหวัดสงขลา นายโสภณ ทองไสย หัวหน้า ปภ.จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่ได้รับการคัดเลือกให้ทดสอบการส่งสัญญาณในระดับเล็ก โดยใช้รั้วบริเวณศาลากลางจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนเข้ารับบริการเฉลี่ยกว่า 1,300 คน ทำให้มีความเหมาะสมในการทดลองระบบแบบเฉพาะจุด และสามารถเก็บข้อมูลการรับสัญญาณได้หลากหลาย

ทั้งนี้ ในวันนี้ จะส่งข้อความทดสอบระบบ CBS ซึ่งประชาชนที่อยู่ในรัศมี 2 กม.จากศาลากลางจังหวัดอาจได้รับเสียงสัญญาณเตือนแม้ไม่ได้อยู่ในอาคารราชการโดยตรง โดยข้อความจะเด้งขึ้นพร้อมเสียงเตือนแม้โทรศัพท์จะถูกปิดเสียงไว้ล่วงหน้า เพื่อความมั่นใจ จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงผ่านทุกช่องทางให้ทราบล่วงหน้าอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเสียงสัญญาณที่ได้ยินในวันทดสอบ เป็นเพียงการจำลองสถานการณ์ ไม่ใช่เหตุภัยพิบัติจริง

ทั้ง 2 จังหวัด ยืนยันว่า หลังจากการทดสอบจะมีการประเมินผลอย่างละเอียด ทั้งการนับจำนวนโทรศัพท์ที่ได้รับข้อความ ความเสถียรของสัญญาณ และการรับรู้ของประชาชน เพื่อรายงานผลกลับไปยังกรม ปภ. และร่วมกันพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในอนาคต
อ่านข่าว : รู้ทันที! "Cell Broadcast" เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยพิบัติใช้กันทั่วโลก
"ระบบเตือนภัย" ไม่ทันภัยพิบัติ ใช้ SMS รอ Cell Broadcast
กสทช.-ค่ายมือถือ ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast