เลือกตั้ง "สมาชิกสภาเทศบาล" และ "นายกเทศมนตรี" วันอาทิตย์ ที่ 11 พ.ค.2568 คูหาเปิด ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
การเลือกตั้งเทศบาล 2568 ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญ ในการเลือกผู้นำและตัวแทนที่สะท้อนเสียงและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ใครมีสิทธิเลือกตั้งเทศบาล
การเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และ นายกเทศมนตรี ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีสัญชาติไทย แต่หากแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
- คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
เช็กสิทธิ-หน่วยเลือกตั้ง ก่อนเข้าคูหา
ช่องทางตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งเทศบาล ปี 2568 ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง เขตและหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้งและลำดับที่ในบัญชีรายชื่อ ทำได้ผ่าน
- แอปพลิเคชัน Smart Vote
ตรวจสอบผลการเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบเป็นทางการ
ผ่านช่องทาง https://www.ect.go.th/ect_th/th/election-results
ต้องเตรียมอะไรไปเลือกตั้งบ้าง
การไปเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และ นายกเทศมนตรี มีสิ่งที่ต้องเตรียมดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
- บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน (เป็นบัตรที่ไม่หมดอายุ) เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบขับขี่, หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฯลฯ
- เปิดผ่านแอปพลิเคชัน แสดงหลักฐานแบบออนไลน์ ใช้ได้ 3 แอปฯ คือ
- แอปพลิเคชัน ThaID (บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์)
- แอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE (ใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์)
- แอปพลิเคชันบัตรคนพิการ (บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล)
การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ เลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และ นายกเทศมนตรี ดังนี้
1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
- ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน
2. การเพิ่มชื่อ - ถอนชื่อ
ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง
หากเป็นเช่นนั้น ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย
ไม่ได้ไปใช้สิทธิ ต้องทำอย่างไร
บางคนอาจมีเหตุจำเป็นหรือติดภารกิจจนไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ หลายคนอยากรู้ทำได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร
คำตอบคือ แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง
ทำหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น แจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางออนไลน์ ผ่านแอปฯ Smart Vote หรือเว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/abscauselocal/
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ มีอะไรบ้าง
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิ อะไรบ้าง
- สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น สว.
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
ขั้นตอนเมื่อไปถึงคูหาแล้วต้องทำอะไรบ้าง
1. ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
2. แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน
3. รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
- บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เลือกผู้สมัครได้ 1 คน
- บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
ทั้งนี้ หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง
5.นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
การเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 มีเวลาลงคะแนน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
อ่านข่าว จู่ ๆ ก็ "ง่วงฉับพลัน" เรื่องเล็ก ๆ ที่บ่งบอกปัญหาใหญ่ในสมอง
เหนื่อยล้า เครียดนอนไม่หลับ เช็กร่างกายกำลังขาด "แมกนีเซียม" โดยไม่รู้ตัวหรือไม่
การเลือกตั้งเทศบาล 2568 สำคัญอย่างไร รู้จักโครงสร้างและบทบาทของเทศบาล