ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กกร.หั่น GDP ไทยเหลือ 2-2.2 % ผลพวงภาษีทรัมป์-เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น

เศรษฐกิจ
7 พ.ค. 68
13:54
125
Logo Thai PBS
กกร.หั่น GDP ไทยเหลือ 2-2.2 % ผลพวงภาษีทรัมป์-เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น
อ่านให้ฟัง
08:02อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กกร. หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 เหลือ 2.0-2.2% ชี้หากไทยโดนภาษีนำเข้าสหรัฐ 36% ฉุดส่งออกทั้งปีหด 2% GDP โตเหลือ 0.7-1.4% จี้รัฐลดต้นทุนในประเทศ ช่วยแก้บาทแข็ง และเร่งเจรจาภาษีสหรัฐ

วันนี้ (7 พ.ค.2568) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า กกร.มีมติปรับคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จากเดิม 2.4-2.9 % เหลือ 2.0-2.2 % ปัจจัยหลักจากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

นอกจากนี้ กกร.ยังประเมินภายใต้สถานการณ์ที่ไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 10 % ในช่วงไตรมาส 2/68 (หลังมีการเลื่อนขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน) และอัตราภาษีในครึ่งปีหลังยังอยู่ที่ 10 % ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเติบโตเพียง 0.3-0.9 % จากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5 %

ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5-1.0 % ลดลงจากประมาณการเดิมเช่นกัน แต่หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36 % ในครึ่งปีหลัง จะส่งให้จีดีพีปี 2568 โตเพียง 0.7-1.4 % ผลกระทบจากการส่งออกทั้งปีที่คาดว่าจะหดตัวได้มากถึง -2 %

ปัจจัยลบจากสงครามการค้าสามารถก่อให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีให้สำเร็จ ประกอบกับยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในภาวะที่ตลาดสินค้ามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น

ประธานกกร. กล่าวอีกว่า สงครามการค้ากดดันเศรษฐกิจโลกปี 2568 โตต่ำกว่าคาด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเติบโตของจีดีพีโลกปี 2568 ลงจาก 3.3 % เหลือ 2.8 % พร้อมเตือนว่าการกีดกันทางการค้าจะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกเติบโตเพียง 1.7 % ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วง European crisis เมื่อปี 2554

ประเทศหลักต่างมีสัญญาณลบ ทั้งสหรัฐฯ ที่ความเชื่อมั่นต่อทิศทางอุตสาหกรรมลดลง ส่วนภาคอุตสาหกรรมของจีนมีคำสั่งซื้อลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี สะท้อนถึงความเปราะบางระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอน รวมทั้งเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตในระยะยาว

มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กดดันภาคการส่งออก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและ SME ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บจะกระทบสินค้าส่งออกหลายกลุ่ม หากถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 36 % มูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจจะหายไปสะสมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปี

นอกจากนี้ ยังเพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกจ้างประมาณ 3.7 ล้านคน และ SME เกือบ 5 พันราย ซึ่งต่างมีข้อจำกัดในการปรับตัวต่อภาวะผันผวนที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ที่ ประชุม กกร. ยังสนับสนุนภาครัฐในการดำเนินแนวทางการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากสถานการณ์เบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) จากมาตรการขึ้นภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure) เพื่อช่วยปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศไทยที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ

ภาครัฐต้องร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออก มีการใช้ระบบดิจิทัล e-Government เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์สินค้านำเข้าจากการเบี่ยงเบนทางการค้า รวมทั้งมีการปรับกระบวนการ

โดยให้ภาครัฐสามารถเริ่มเปิดไต่สวนได้ทันทีหากพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถป้องกันผลกระทบได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ กกร. ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐฯ ถึงแนวทางการเพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทยให้มากขึ้น

ซึ่งเห็นชอบร่วมกันว่าในช่วงเข้มงวดนี้ จะให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่จะออกหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวังสินค้าส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกรมการค้าต่างประเทศ มีการประกาศรายการสินค้าเฝ้าระวังแล้ว จำนวน 65 รายการ เพิ่มขึ้นจากเดิม 49 รายการ

อย่างไรก็ตาม กกร. มองว่า ไทยจะต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ การปรับลดกำแพงภาษีแล้ว ยังต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ สามารถเจรจาขอยกเว้นหรือลดอัตราภาษีนำเข้าได้ต่ำกว่าไทย อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ ขณะเดียวกันการที่สหรัฐฯ และจีนได้ส่งสัญญาณที่จะเตรียมการเจรจาเพื่อคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ ก็เป็นสัญญานบวกต่อการค้าโลก

ทั้งนี้ กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5-32.7 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป

และการสื่อสารฯเชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่นต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ

อ่านข่าว:

จับสัญญาณประชุมเฟด 5-6 พ.ค.นี้ กรุงศรีฯชี้เงินบาทซื้อขายกรอบ 32.70-33.30 

“จีดีพี”ไทยโตรั้งท้ายอาเซียน เวิลด์แบงก์-IMF หั่นเหลือ 1.6-1.8% 

ฤาจะถึงคราเสน่ห์ "เที่ยวไทย" สิ้นมนต์ขลัง ในสายตานักท่องเที่ยวจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง