วันนี้ (7 พ.ค.2568) นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ที่อาคารรัฐสภา ถึง เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า น่าจะเกิดจากการแก้ปัญหาภาพรวม ยังไม่มีความชัดเจน และมีความลังเลในการกำหนดทิศทาง แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการให้ สมช.ทบทวนยุทธศาสตร์ ต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 แต่ล่วงเลยมาแล้ว พอหลังจากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ก็มีการขีดเส้น 7 วัน และวันนี้ก็ผ่านมาแล้วด้วย
อ่านข่าว : "ภูมิธรรม" เข้าพบ "จุฬาราชมนตรี" ขอคำแนะนำร่วม แก้ปัญหา จชต.
ขณะที่ข้อเสนอของฝั่งไทย ได้เจรจากับ BRN ก่อนหน้านี้ให้หยุดยิง เพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวจริง แต่กลับมีความล้มเหลวเกิดเหตุลอบสังหารตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชน เกิดความไม่สบายใจ จากนั้นสถานการณ์ไต่ระดับ และหากสังเกตดี ๆ ความรุนแรงกำลังทำงาน เพื่อให้เกิดการตอบโต้
“หากความรุนแรงถาโถมลงไปเรื่อย ๆ จะทำให้ผู้คนแบกรับความเสี่ยง ดังนั้นจะดำเนินการอะไรต้องเป็นเหตุเป็นผล และมองว่า กระบวนการสันติภาพต้องดันขึ้นจากหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ชาวมุสลิมและไทยพุทธ รวมถึงอื่น ๆ ต่างเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูการพูดคุย เพื่อให้มีพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ให้ประชาชนพูดคุยและส่งเสียง และย้ำว่าเรื่องนี้ว่า ต้องถกเถียงกันด้วยเสียงประชาชน”
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรี ควรเป็นหัวหน้าเจรจาเองหรือไม่ นายรอมฎอน มองว่า หลายปีที่ผ่านมา กระบวนการเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องเจรจาเอง แต่ต้องมีส่วนกำกับ
ขณะที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดระดับโดยมีคณะกรรมการพูดคุยซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองลงมาเป็นคณะกรรมการพูดคุยสันติสุข และคณะประสานงานในพื้นที่ แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โครงสร้างแบบนี้ไม่มี แต่ให้ สมช.ดำเนินการภายในเอง
อ่านข่าว : “สำนักจุฬาราชมนตรี” ประณามการฆ่าผู้บริสุทธิ์ เรียกร้องยุติความรุนแรง
ประกอบกับไทย ยังมีข้อกังขาว่า คณะพูดคุยของ BRN เป็นตัวจริงหรือไม่ นานแล้ว เรื่องทั้งหมดจึงควรเริ่มต้น จากฉันทานุมัติของแต่ละฝ่าย ที่แต่ละฝ่ายต้องมีการปรับ เพราะสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยกันได้คือต้องยุติสถานการณ์ปรปักษ์หรือหรือการลดความรุนแรงการเผชิญหน้า แม้ต่างฝ่ายต่างดำเนินการแต่สุดท้ายต้องมีองค์ประกอบร่วมกัน
นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการกำหนดทิศทาง ตกลงกติกา มีแต่คณะผู้แทนเพื่อสันติภาพเท่านั้น ร่างเอกสาร และแผนสันติภาพเท่านั้น และแม้การเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงของรัฐบาล ดูเหมือนสมเหตุสมผลแต่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เพราะ BRN ยังคงใช้ความรุนแรงเป็นอำนาจต่อรอง ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิด คือต้องเผชิญหน้า ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือกำหนดวิธีการ ดำเนินการ เพราะมีความชอบธรรมมากกว่าเนื่องจากไม่ได้ใช้ความรุนแรง
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะส่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพูดคุยกับนายอันวา นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อยุติปัญหาเหตุความรุนแรงชายแดนใต้ หรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การริเริ่มพูดคุยกับมาเลเซีย เกิดจากความสามารถของนายทักษิณ ที่เดินทางไปใช้คอนเนคชั่น นำไปสู่การปูทางพูดคุยสันติภาพ
แต่จนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่า มาเลเซียมีความสำคัญ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประชากรและภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กัน จึงต้องมีการจัดวาง ให้เกิดความเหมาะสม การกันมาเลเซียออกจากกระบวนการแก้ไขปัญหาอาจจะสร้างปัญหามากกว่า และต้องยอมรับว่า ปัจจุบันไทยใช้มาเลเซียเป็นประตูทางเข้า เพื่อพูดคุยกับ BRN ด้วย แต่สุดท้ายต้องขีดเส้น ใต้ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเรา ต้องริเริ่มด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้ BRN หรือมาเลเซีย เป็นผู้กำหนดการพูดคุยหรือการทูต”
อย่างไรก็ตาม นายรอมฎอน กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเพื่อเดินหน้าการพูดคุยไปสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ
อ่านข่าว : "ไฟไหม้" บ่อขยะ "หล่มสัก" ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ สั่งเร่งคุมเพลิง