ท้องถิ่นหลายแห่งเติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น หากผู้บริหารใช้งบประมาณที่มีไปกับการจัดทำฐานข้อมูลของเมือง เพื่อจัดการและตามให้ทันกับปัญหาเมือง ย่อมส่งผลดีต่อคนในท้องถิ่นนั้นๆ
เทศบาลแม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เริ่มจัดเก็บขยะอินทรีย์ในร้านอาหาร เมื่อต้นปี 2568 หลังเทศบาลเมืองแม่เหียะเผชิญความเปลี่ยนแปลงจากการเติบโตของเมือง อยู่ใกล้สนามบินและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ร้านอาหารเพิ่มขึ้น ขยะก็เพิ่มตาม
เทศบาลจึงใช้ฐานข้อมูลจัดการอย่างเป็นระบบ นำร่องเป็นหนึ่งในเทศบาลแห่งแรกๆ ของประเทศที่ใช้ข้อมูลเมือง (City Data) มาบริหารจัดการขยะอย่างจริงจัง โดยมีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอรับเศษอาหารจากร้านค้า เพื่อส่งต่อเข้าสู่กระบวนการหมักก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ขณะที่ข้อมูลจากแอปพลิเคชันของเทศบาล ช่วยวางแผนจัดเก็บและลดปริมาณขยะจากร้านอาหารทั่วเทศบาลได้ถึง 70%

ร้านอิ่มหมี ในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ แยกเศษอาหารจากหม้อชาบูของลูกค้าใส่ถังขยะเฉพาะ ซึ่งร้านนี้ทิ้งเศษอาหารเฉลี่ยวันละ 70-100 กิโลกรัม ทุกค่ำหลังปิดร้าน พนักงานจะกดเรียกรถเก็บเศษอาหารผ่านแอปฯ ของเทศบาล ซึ่งจะเข้ามาเก็บในเช้าวันถัดไป พร้อมชั่งน้ำหนักและถ่ายรูปยืนยันการรับขยะ โดยแอปฯ จะแจ้งผลแบบเรียลไทม์ว่าขยะร้านนี้ได้รับการจัดการแล้ว
บนแดชบอร์ดข้อมูลเมือง ไม่ได้มีแค่เรื่องขยะ แต่ยังครอบคลุมถึงพิกัดสัตว์เลี้ยง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคเรื้อรัง และธุรกิจที่อาจกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดถูกเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนให้สวัสดิการหรือบริการต่างๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและไม่ตกหล่น
นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ย้ำว่า “ข้อมูล” คือหัวใจของการบริหารยุคใหม่ ต้องรู้จักประชากรของตัวเอง เพื่อวางนโยบายให้ตรงกับความต้องการจริงของพื้นที่

นอกจากการใช้ข้อมูลเพื่อวางนโยบาย นายกเทศมนตรีแม่เหียะยังเดินหน้านโยบาย “เปิดเผยข้อมูล” หรือ Open Data เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของเทศบาล เขาย้ำว่าการบริหารงานเทศบาลยุคใหม่ต้องโปร่งใส ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือในการพัฒนาเมืองร่วมกัน
ข้อมูล-ความโปร่งใส หัวใจสำคัญจัดการเมือง
เทศบาลเมืองแม่เหียะ เป็นตัวอย่างของเทศบาลที่กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีกลุ่มประชากรแฝง หมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทศบาลได้ใช้ฐานข้อมูลแผนที่ภาษีและข้อมูลประชากรเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายเมือง สำหรับแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคต
นายกเทศมนตรีแม่เหียะ ตั้งเป้าสร้างศูนย์รวมชุมชนในรูปแบบ Compact City ที่เชื่อมโยงศูนย์บริการสาธารณะ ศูนย์กีฬาชุมชน โรงพยาบาลท้องถิ่น และแหล่งส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดภาระการเดินทางออกนอกพื้นที่

นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ
นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ
ในช่วงเวลาที่หลายเทศบาลทั่วประเทศกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น นายกเทศมนตรีแม่เหียะ ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งมาเมื่อไม่นาน ได้ฝากถึงผู้นำท้องถิ่นรุ่นใหม่ ว่า การทำงานในยุคดิจิทัลต้องเปิดกว้าง รับฟัง สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชมทุกคน ทั้งที่อยู่ดั้งเดิมและที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ รวมทั้งใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างโปร่งใส
ขณะที่นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนแม่เหียะ และประกอบธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่เทศบาลแม่เหียะ ยอมรับว่า สถานการณ์ร้านอาหารในพื้นที่แม่เหียะขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง นำมาซึ่งความท้าทายเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อ 10 ปีก่อน แถวนี้ยังเป็นชานเมือง ไม่ค่อยมีร้านอาหารหรือหมู่บ้านจัดสรรมากนัก แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก เทศบาลต้องรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะ พร้อมเสนอว่าเทศบาลแม่เหียะควรจัดทำแคมเปญรณรงค์ลดขยะในกลุ่มร้านอาหารอย่างจริงจัง นำแนวคิด Zero Food Waste ไปเผยแพร่ให้ร้านค้าต่างๆ นำไปปฏิบัติ พร้อมกับจัดเก็บข้อมูลร้านอาหารในเขตเทศบาลอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างความยั่งยืนมากกว่า
อ่านข่าว
สมรภูมิ "ลำปาง" จับตา 3 ตัวเต็งชิงเก้าอี้นายกเล็ก
ศึกชิงนายกเทศมนตรีนครเชียงราย "พรรคใหญ่-แชมป์เก่า" กับโจทย์ยากแก้ภัยพิบัติ