วันที่ 7 พ.ค.2568 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านและหน่วยงานถึงผลกระทบแม่น้ำกก ปนเปื้อนสารพิษ
คณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่จุดแรก เวลา 14.15 น ที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร อ.เมือง จ.เชียงรายพบกับกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงช้าง ผลกระทบกับการท่องเที่ยวและสุขภาพ จากการพบสารหนูในแม่น้ำกก ในระหว่างลงพื้นที่ มีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้ข้อมูล เช่น ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ผู้แทนทรัพยากรธรรมชาติจังหวัด ฝ่ายปกครอง รวมถึงชาวบ้านร่วมให้ข้อมูล
นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ กล่าวกับผู้มาให้ข้อมูลในฐานะกรรมาธิการฯ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแก้ปัญหา มองปัญหาสารพิษแม่น้ำกกเป็นวาระเร่งด่วนต้องเร่งแก้ปัญหา
ก่อนที่จะเดินลงไปดูแม่น้ำกก และมีผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ให้ข้อมูลถึงปัญหาแม่น้ำปนเปื้อนสารพิษกระทบทั้งคนและช้างที่ต้องงดกิจกรรมเกี่ยวกับแม่น้ำกก

ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดเชียงราย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกับการตรวจแม่น้ำกก ปกติจะตรวจหนึ่งปีจะตรวจสี่ครั้ง แต่มีเรื่องร้องเรียนขึ้นมา คือเรื่องความขุ่นจึงเริ่มมีการตรวจมากขึ้น สิ่งที่น่ากังวลสารโลหะปัจจุบัน เช่น สารหนู
ด้าน นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ให้ข้อมูลกับคณะฯ ว่า ที่ผ่านมา สทนช.มีกองการต่างประเทศ ประสานผ่านกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง หรือ MRC และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง หรือ LMC หลังทราบผลตรวจแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษได้ทำหนังสือไปทางการเมียนมา ให้ช่วยตรวจสอบและแนวทางแก้ไขอย่างไร
ล่าสุดยังอยู่ระหว่างรอทางการเมียนมา ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ แต่มีการแจ้งมาแบบไม่เป็นทางการว่า ทางการเมียนมา จะมีการตั้งจุดทดสอบน้ำ 5 จุด แต่ก็ไม่ได้อยู่ในโซนแม่น้ำกก จุดที่เก็บตัวอย่างน้ำจะอยู่ในโซนแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการฯ รับฟังปัญหา มีชาวบ้านที่เป็นควาญช้างได้บอกถึงผลกระทบหลังลงน้ำกกมีผื่นเกิดขึ้น
ลงไปอาบน้ำให้ช้าง เมื่อกลับมีแผลที่แขน และเข่า ก่อนหน้านี้ไม่มีแผลมาก่อน พอลงน้ำกกก็เป็นผื่น เป็นตุ่ม มีหนอง
จากนั้น คณะกรรมาธิการจะเดินทางไปวัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เดินทางถึง เวลา 16.47 น. มีนางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ และฝ่ายปกครองมาให้ข้อมูล บริเวณวัดท่าตอน ชั้น 9 เป็นมุมสูงจุดยุทธศาสตร์ ที่สามารถมองเห็นแม่น้ำกกที่ไหลเข้าพรมแดนประเทศไทย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก่อนจะไหลเข้าสู่ จ.เชียงราย
นายอำเภอแม่อาย ให้ข้อมูลว่า หลังทราบว่า แม่น้ำกกปนเปื้อนสารหนูและสารพิษอื่นก็แจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับรู้และไม่ให้ตื่นตระหนก แนะนำให้เลี่ยงกิจกรรมทางน้ำ แต่ในพื้นที่ไม่ได้ใช้แม่น้ำกกทำน้ำประปา
ในแม่อาย ไม่มีปัญหาน้ำใช้ อุปโภคบริโภค แต่สิ่งที่กังวลที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านไม่สามารถเล่นน้ำได้และกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจค้าขายริมน้ำ
หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการฯ ได้มาฟังข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนกับตัวแทนจากหลายภาคส่วน รวมถึงพระมหานิคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าตอน ได้เล่าความสัมพันธ์คนลุ่มน้ำกกในเมียนมาและฝั่งไทย ก่อนที่ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะได้ซักถามผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล

นายอำเภอแม่อาย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ผลกระทบสุขภาพ เช่น เด็กเล็กเล่นน้ำ ชาวบ้านไปจับปลามากินที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านไม่มีอาการเจ็บป่วยหนัก แต่บางคนมีผื่นแพ้ สาธารณสุขและกรมอนามัยลงพื้นที่ เก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ตั้งครรภ์ ไปตรวจหาสารพิษ ผลตรวจยังเป็นปกติทุกคน
ทางด้าน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้ข้อมูลเหมืองทองเมียนมาว่า ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ การหาข้อมูลทำได้ยาก ได้ร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนหลายแห่ง แต่ยังหาไม่ได้มาก
ส่วนตัวมองว่า ปัญหาเหมืองทองในเมียนมา เป็นรายย่อยมาก แต่ความเสียหายสูง หากดูมาตรฐานสากล เหมืองลักษณะนี้เป็นเหมืองเถื่อนไม่ได้ใช้กฎหมายใด ๆ เลย สิ่งที่เห็นชัดคือโคลน และสารพิษ เหมืองปราศจากการควบคุม ในข้อเสนอภาคประสังคม จ.เชียงรายได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2568 มีข้อหนึ่งเสนอควรจะมีการเจรจา

นี่เป็นปีแรกที่เห็นปัญหาจริง ๆ อายุของการทำเหมือง 10 ปี 15 ปี สารปนเปื้อนจะสู่ธรรมชาติขนาดไหน หากรัฐบาลเห็นปัญหาสุขภาพประชาชนไทย น้ำสะอาดเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจะต้องดำเนินการทันที
หลังรับฟังข้อมูลหน่อยงานต่าง ๆ เสร็จคณะกรรมาธิการฯ ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงแนวทางแก้ปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษ
นายรังสิมันต์ระบุว่า ปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษ มาจากการทำเหมืองทองที่เกิดขึ้นในฝั่งประเทศเมียนมา ระหว่างเมืองยอนกับเมืองสาด ที่ตั้งอยู่รัฐฉาน และอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของว้า มีข้อมูลบางส่วนว่าอาจเป็นเหมืองที่ทำอย่างผิดกฎหมายมากกว่า 30 กว่าแห่ง ส่วนตัวคิดว่าหากยังนิ่งเฉยไม่เร่งแก้ปัญหา แนวโน้มของปัญหาจะขยายไม่ใช่เฉพาะในแม่น้ำกก ตอนนี้แม่น้ำโขงก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ปัญหาสารพิษในแม่น้ำกกกำลังลุกลาม ถือว่าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรง ส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพของประชาชน และจะเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาว

นายรังสิมันต์ มองว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนถึงแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะว่าประชาชนอยู่อย่างรู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องยอมรับว่าเมื่อพูดถึงว่ามีปัญหา หลายปัญหาเกี่ยวข้องกันอยู่ปัจจุบันเช่น เรื่องยาเสพติด การลุกล้ำเขตแดน และวันนี้มีปัญหาเรื่องเหมืองแร่ ที่พบสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำ รัฐบาลควรจะคิดได้แล้วว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้ายังปล่อยปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ คนไทยจะอยู่ในประเทศไทยอย่างไม่ปลอดภัย
ส่วนกรณีฝ่ายความมั่นคงพยายามเจรจาแก้ปัญหาเหมืองแร่และสารพิษแม่น้ำกก แต่ฝ่ายเมียนมากับว้า เหมือนจะโยนปัญหากันไปกันมา
นายรังสิมันต์กล่าวว่า หลักการแรกจะต้องแก้ปัญหานี้ จะบอกว่า เป็นปัญหานอกประเทศจะไม่ทำอะไร ทำแบบนั้นไม่ได้ คนไทยเดือดร้อน ต้องตั้งหลักปัญหาต้องแก้ ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน มีเหมืองแร่ อาจเป็นเหมืองผิดกฎหมายอาจจะเชื่อมกับจีนเทาที่เข้าไปในเมียนมา
ในประเทศเมียนมาทุกฝ่ายทราบดีว่า มีความไม่สงบอย่างไร พื้นที่อิทธิพลว้าปกครอง เมียนมาสั่งว้าไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงว่า ไปคุยกับเมียนมา เพื่อมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่มีทางแก้ได้ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว ทุก ๆ ปัญหาที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเรื่องรัฐบาลกลางเมียนมา ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย
เมื่อต้องคุยกับว้า เคลียร์กับว้า เราอาจจะบอกว่าเคลียร์กับว้า และว้าไม่ถอย แล้วมีใครที่จะคุยให้ว้าถอย มีใครจะคุยให้ว้ายอม?
นายรังสิมันต์ เสนอทางออกการเจรจา ซึ่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลายประเทศ บางประเทศก็อาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับว้าเป็นพิเศษ บางครั้งอาจจะต้องมีการคิดแบบในเชิงกลยุทธ์ที่มากกว่านั้น แม้แต่ภาคเอกชนที่อาจจะมีความร่วมมือ หรือค้าขาย หน่วยงานด้านความมั่นคงรู้ได้ไม่ยาก มีวิธีการดำเนินการหลายอย่างแต่คำถามสำคัญว่าอยากดำเนินการหรือไม่

อย่าไปตั้งต้นปัญหานี้แก้ยาก ปัญหานี้ซับซ้อน ต้องคิดว่าถ้าปล่อยให้ปัญหาดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ คนไทยเดือดร้อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลว่า มีบริษัทจีนไปทำเหมืองแร่ด้วย จะดึงจีนมาร่วมแก้ปัญหาหรือเจรจาด้วยได้หรือไม่
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ต้องเปิดทุกความเป็นไปได้การพูดคุยกับจีน เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ เพียงแต่การคุยกับจีนจะเป็นจุดแรกเลยหรือไม่ ต้องพิจารณา ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ๆ ในหลายมิติ เช่น การค้าขาย การลงทุน วันนี้ต้องเริ่มต้นใครจะเป็นเจ้าภาพในการแก้เรื่องนี้ ต้องมองภาพรวมการแก้ปัญหาใหญ่มาก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง ทหาร ต้องมีองค์ประกอบคณะทำงาน ซึ่งตอนนี้แทบจะไม่ได้เห็นในรายละเอียด รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมาก ๆ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
อ่านข่าว : จี้รัฐบาลเร่งเจรจาเมียนมา หยุดทำเหมืองทองก่อมลพิษ ชี้กระทบสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม