ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิสืบฯ แถลงการณ์ค้านก่อสร้าง "กระเช้าภูกระดึง"

Logo Thai PBS
มูลนิธิสืบฯ แถลงการณ์ค้านก่อสร้าง "กระเช้าภูกระดึง"
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ตั้งคำถามความคุ้มค่า ห่วงสิ่งอำนวยความสะดวกตามมา กระทบระบบนิเวศ-พืชพันธุ์หายาก-สัตว์ป่า

กรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อนุญาตต่ออายุการศึกษาอีกไม่เกิน 2 ปี โดยให้คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ดำเนินการโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมทั้งมีแนวคิดให้บริการรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบคล้ายรถกอล์ฟบนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดิน เพื่อให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ

วันที่ 7 พ.ค.2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวถึงแม้จะระบุว่าเป็นเพียงแค่แนวคิด แต่เป็นการตอกย้ำสิ่งที่นักอนุรักษ์เป็นห่วงและกังวลมาตลอด คือ หากมีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะไม่จบแค่การสร้างกระเช้า แต่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ตามมาอย่างแน่นอน เพราะจุดท่องเที่ยวบนภูกระดึงแต่ละจุดมีระยะทางค่อนข้างไกล

ในแถลงการณ์ยังตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งบนภูกระดึงและพื้นที่โดยรอบได้นานเพียงใด เมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นจากความสะดวกในการขึ้นลง และการรบกวนระบบนิเวศในพื้นที่ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะสามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศได้หรือไม่

อีกทั้งอุทยานแห่งชาติภูกระดึง นอกจากจะเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองของไทย ในปี 2566 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน เพราะพื้นที่ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว

ด้วยความพิเศษของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และสัตว์ป่าเป็นตัวตั้ง อาจนำไปสู่สถานภาพของพื้นที่ที่ลดคุณค่าลงตามที่ได้นำเรียนข้างต้น จนอาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเพิกถอนเพื่อเหตุผลแห่งการพัฒนาในที่สุด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอยืนยันคัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อคงคุณค่าการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ต่อไป

อ่านข่าว : ดัน “กระเช้าภูกระดึง” 2 ปีแบบก่อสร้างชัด 

เหตุผลค้าน "กระเช้าภูกระดึง" สิ่งแวดล้อมพังไม่คุ้มนักท่องเที่ยวเพิ่ม 

เปิดหนังสือขอศึกษา "กระเช้าภูกระดึง" 2 ปีสิ้นสุดปี'68 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง