เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.2568 หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ผ่านระบบ Cell Broadcast System (CBS) ซึ่งเป็นการทดสอบ ครั้งที่ 3 ระดับใหญ่ หรือระดับจังหวัด ครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, อุดรธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร
เสียงแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือยาวประมาณ 8 วินาที พร้อมข้อความว่า "ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก"
ผู้ใช้งานจำนวนมากแคปหน้าจอข้อความดังกล่าวและแชร์ลงโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #cellbroadcast แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้บางส่วนที่ไม่พบข้อความแจ้งเตือนบนอุปกรณ์ของตน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาทิใน จ.อุดรธานี มีรายงานว่าผู้ใช้งานบางรายได้รับข้อความถึง 2 ครั้งติดกัน ขณะที่บางคนไม่ได้รับข้อความแม้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน บางคนก็ได้รับข้อความช้า

ทั้งนี้ การแจ้งเตือนดังกล่าวเป็นเพียง "การทดสอบระบบ" เพื่อประเมินความพร้อมในการแจ้งเตือนภัยพิบัติในอนาคต ไม่มีการให้กดลิงก์ใดๆ
ผลทดสอบน่าพอใจ เตรียมขยายครอบคลุมระดับประเทศ ก.ค.นี้
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การทดสอบแจ้งเตือนภัยในวันนี้ กำหนดสถานการณ์จำลองการเกิดสถานการณ์วาตภัยและอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ ซึ่ง ปภ. ต้องส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยตามระเบียบกระบวนงาน (Workflow) การส่งข้อมูลให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบ Cell Broadcast ในพื้นที่เป้าหมาย
การส่งในรหัสเหตุการณ์ Nation Alert จำนวน 1 ครั้ง ในเวลา 13.00 น. ระยะเวลาที่แสดง 10 นาที ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบและพื้นที่ใกล้เคียงนอกเขตพื้นที่เป้าหมายในรัศมี ประมาณ 1 - 3 กิโลเมตร จะได้รับเสียงเตือนจากโทรศัพท์มือถือและมีข้อความแจ้งเตือนปรากฏขึ้นบนหน้าจอโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นแบบเดียวกับที่จะได้รับเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นจริง
ประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ 4G และ 5G ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป และระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชัน 18 ขึ้นไป จะได้รับการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast โดยอัตโนมัติ สำหรับประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ 2G และ 3G อุปกรณ์จะไม่รองรับระบบการแจ้งเตือนด้วย Cell Broadcast ทำให้ไม่ได้รับการแจ้งเตือนในการทดสอบนี้
ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลใจ เนื่องจากในกรณีที่เกิดสาธารณภัยขึ้นจริง ประชาชนกลุ่มผู้ใช้บริการโทรศัพท์ 2G และ 3G จะได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยแทน ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้พัฒนาระบบและอุปกรณ์การทำงานเพื่อให้สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนภัยถึงประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้ภายใน 10 นาที
อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ผลการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยในวันนี้ เป็นที่น่าพอใจ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่อยู่ในห้องประชุมได้รับการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กดส่งสัญญาณ ในส่วนของจังหวัดเองก็รายงานว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับเสียงสัญญาณและข้อความแจ้งเตือนภัยอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานภายหลังจากนี้ ปภ. จะดำเนินการเปิดทดสอบระบบในระดับประเทศพร้อมกันต่อไปในช่วงเดือน ก.ค. 2568 เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศไทยที่สามารถแจ้งเตือนถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง ประชาชนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยและเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาลและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปในอนาคต

สำหรับการทดสอบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ทั้ง 3 ระดับที่ได้จัดขึ้นนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มีการกำหนดทดสอบ ใน 3 ระดับ คือ ระดับเล็ก ระดับกลาง และระดับใหญ่
ผลจากการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยระดับเล็ก (ภายในอาคาร) เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2568 ในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และอาคาร B และเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2568 ในพื้นที่ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร พบว่า การทดสอบการแจ้งเตือนภัยทั้ง 2 รอบ เป็นไปด้วยดี ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้รับเสียงสัญญาณและข้อความแจ้งเตือนภัย ภายในเวลาอันรวดเร็วและทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทดสอบ ถือได้ว่าการทดสอบระดับเล็กและระดับกลางประสบผลสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast มากขึ้น และเพื่อให้การประเมินประสิทธิภาพของการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast นำไปสู่การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ชวนทำแบบสอบถาม หลังทดสอบใหญ่
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายหลัง ปภ. ได้ดำเนินการทดสอบระบบเตือนภัยปแล้ว 3 ครั้ง ประกอบด้วยทดสอบระดับเล็ก เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ทดสอบระดับกลางเมื่อวันที่ 7 พ.ค. และทดสอบระดับใหญ่ระดับจังหวัดวันนี้ 13 พ.ค.2568 จึงขอความร่วมมือประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ได้ดำเนินการทดสอบในวันนี้ (13 พ.ค.) ตอบแบบสอบถาม การทดสอบระบบ Cell Broadcast เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ Cell Broadcast ของประเทศไทย เพิ่มเติมต่อไปในอนาคตโดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการใช้ระบบเตือนภัย ที่สมบูรณ์ได้จริงในช่วงเดือน ก.ค.นี้
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าวสามารถสแกน QR Code หรือกดลิงค์เพื่อที่จะเข้าไปตอบแบบสอบถาม ได้ที่
- เชียงใหม่ https://forms.gle/XzjaESpoMc9iqdhP8
- อุดรธานี https://forms.gle/L3fmB9zYjSFRbkcd9
- พระนครศรีอยุธยา https://forms.gle/UTmscZvS2yXzJdAs7
- นครศรีธรรมราช https://forms.gle/Nm2P7izn5qmcsp2A6
- กรุงเทพฯ https://forms.gle/fk3mAG71FDtLMdH2A

อ่านข่าว : 13 พ.ค. เช็กพื้นที่ทดสอบระบบ แจ้งเตือนภัยพิบัติ Cell Broadcast