4 ก.ย. 67
จิราภพ ทวีสูงส่ง
https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1562
เมื่อเราเมียงมองขึ้นบนฟ้า แล้วเห็นนกบินเกาะกลุ่มเป็นรูปตัว “V” เคยสงสัยไหมว่าเพราะพวกมันบินเป็นรูปตัววีได้อย่างไร และทำไมจึงบินเช่นนั้น Thai PBS Sci & Tech นำคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์มาให้ได้ทราบกัน
เหตุผลที่นกบินเป็นกลุ่มตัว “V” ก็เพื่อช่วยประหยัดพลังงานในการบิน โดยงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature ได้เผยผลการศึกษาว่า นกจะใช้พลังงานน้อยลง 20 - 30% เมื่อบินในลักษณะนี้ เนื่องจากนกเหล่านี้กำลังใช้ประโยชน์จากกระแสลมที่เกิดขึ้นจากการตีปีกของนกตัวข้างหน้ามาใช้เพื่อพยุงตัวเอง ทำให้นกตัวที่อยู่หลัง ๆ สามารถรักษาระดับความเร็วที่ต้องการได้โดยใช้พลังในการบินน้อยลง เพราะอาศัยกระแสลมจากการพุ่งไปข้างหน้าของนกตัวแรก ๆ
ช่วงห่างและทิศทาง กับการขยับปีกเป็นจังหวะสอดประสานกันของนกทั้งฝูงที่บินอยู่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าอยู่ในระยะห่างที่เหมาะสม กระแสลมจากตัวหน้าก็จะช่วยยกตัวของนกตัวนั้นขึ้น แต่ถ้าใกล้เกินไป แทนที่จะเป็นการช่วยกลับจะกลายเป็นแรงต้านสำหรับนกตัวหลังไป และเช่นกันถ้าห่างเกินไป กระแสลมก็จะไม่ช่วยอะไรนกตัวนั้นแต่จะทำให้เพดานบินของมันต่ำลงอีกด้วย
นอกจากนี้ข้อดีอีกอย่างก็คือ การเกาะกลุ่มบินเป็นรูปตัว V จะช่วยในการมองเห็นสมาชิกในฝูง และยังใช้ทรงรูปตัว V เพื่อรักษาระยะกับนกอื่น ๆ ด้วย โดยเป็นไปลักษณะเดียวกับการบินฝูงเครื่องบินขับไล่ของมนุษย์
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นกที่มีปีกยาวจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำเช่นนี้ ดังนั้น จึงมักเห็นห่านชอบบินเป็นกลุ่มรูปตัว V อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังคงไม่ทราบว่านกเหล่านี้จัดระบบตัวเองในลักษณะนี้ได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่านกที่โตกว่าจะสอนนกที่อายุน้อยกว่าให้รู้จักการจัดระบบรูปร่างตัววี
แต่ Dr. Steven Portugal นักวิจัยหลักในครั้งนี้กลับเห็นว่า นกเหล่านี้ที่บินเกาะกลุ่มรูปตัว V มีอายุใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าพวกมัน (นก) จะเรียนรู้การบินในรูปแบบตัว V จากกันและกัน หรือแทบจะเรียกได้ว่าสอนตัวเองเลยก็ว่าได้
และแม้ว่าการบินแบบรูปตัว V นกสายพันธุ์ต่าง ๆ จะนิยมมากที่สุด แต่การวิจัยนี้ก็พบว่านกมีการบินเกาะกลุ่มแบบรูปตัวเจ (J) ให้เห็นอยู่จำนวนไม่น้อย
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience, nature, nectec, NSTDA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)