ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเป็นจังหวะที่ศาลรัฐธรรมนูญ แถลงมติ "ยุบพรรคก้าวไกล" พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ทำให้ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นชี้แจงว่า ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรได้ เช่นเดียวกับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ต้องขอยุติบทบาทการทำหน้าที่ในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
7 สิงหาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตาคดี "ยุบพรรคก้าวไกล" ท่ามกลางกระแสการซื้อ-ขาย "งูเห่า-สีส้ม" ร่วมงานทางการเมือง แต่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ชี้ว่าเป็นเพียงยุทธการ โยนหินถามทาง ลักษณะเหมือน "หมาหยอกไก่" หรือ "เอาถุงขนมมาล่อซื้อ" แต่เชื่อว่าไม่สำเร็จและไม่มีใครหลงกล
ดีเดย์ 7 ส.ค. 67 ชี้ชะตาพรรคก้าวไกล กรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองหรือไม่ เรื่องนี้ยังถูกจับตาจากต่างประเทศ และแสดงท่าทีมา อย่าง สำนักข่าว VOA รายงานว่า เนื้อความในจดหมายแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภา สหรัฐฯ ที่ส่งให้กับ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศของไทย ร้องขอให้ไทยยึดมั่นค่านิยมที่มีร่วมกัน และ เป็นหลักสำคัญในฐานะการเป็นหุ้นส่วนประเทศ กระทั่งในระดับอาเซียน มาเลเซียกินี รายงานอ้างถึง รัฐสภาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ APHR ที่ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า รัฐบาลจะพยายามปิดปากฝ่ายนิติบัญญัติด้วยศาล จึงเรียกร้องตุลาการไทยรักษาความเป็นอิสระ และรอบคอบถึงผลที่จะตามมาของสภานิติบัญญัติที่เกินขอบเขต อาจมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงปิดคดียุบพรรค ตอกย้ำ 9 ประเด็นการต่อสู้คดี สาระสำคัญหนึ่งบอกว่า คดีพรรคไม่ได้อยู่ในอำนาจ และศาลไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล ขณะเดียวกันประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลงว่า พรรคไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดี ทั้งในชั้นของ กกต. และชั้นศาลรัฐธรรมนูญ