ปลุกพลัง
ทั้งนี้ สาเหตุที่เลือกภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ในเรื่องมีความหลากหลาย และให้พื้นที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ทั้งที่สนับสนุนการประหารชีวิต และไม่สนับสนุนวิธีดังกล่าว ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ต้องการให้ทุกคนตระหนักเห็นว่า ทุกคนบนโลกนี้มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่มีใครดีหรือชั่ว 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังต้องการสะท้อนมุมมองของกระบวนการยุติธรรม และให้ผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์ ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย
ด้านดร.นอร์แบร์ท ชปิทซ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมันได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผูชมเกิดความตระหนักต่อโทษประหารชีวิตที่นักโทษคนหนึ่งได้รับ และยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องได้สร้างตามมา เช่น The Chamber, The Green Mile ดร.นอร์แบร์ท ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องตายเมื่อไหร่และอย่างไร มีแต่นักโทษประหารเท่านั้นที่รู้
น.ส.วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาพยนตร์นั้นได้แสดงถึงความซับซ้อนในความคิดของตัวละครในเรื่อง เห็นปัญหาของแต่ละคน และเห็นความคับข้องของในตัวกฏหมาย มีข้อถกเถียงว่า กฏหมายการประหารชีวิต เปรียบกับรัฐบาลเป็นอาชญากร ด้วยการใช้อำนาจ ใช้สิทธิที่มีอยู่ ทั้งนี้ หากมองในมุมญาติของเหยื่อผู้ถูกกระทำ กฏหมายประหารชีวิต ก็เหมือนเป็นการช่วยคลี่คลายความเศร้าใจและความทุกข์ ทั้งนี้ รัฐบาลที่มีกฏหมายประหารชีวิต มักจะทำให้ประชาชนเชื่อว่า สิ่งนี้จำเป็นต้องทำ เป็นจิตวิทยา เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู จึงควรต้องคำถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หรือมีทางเลือกอื่นอีกบ้างมั้ย อย่างไรก็ตาม เราทุกคนในสังคมควรมีสิทธิ์ และมีส่วนในความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
ขณะที่นายอภิรัตน์ มั่งสาคร หนึ่งในผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ กล่าวภายหลังได้รับภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนต้นเหตุของปัญหา ทุกคนล้วนมีโอกาสผิดพลาด แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความรุนแรง ด้วยการได้รับโทษประหารชีวิต เพราะไม่มีใครตั้งใจเกิดมาเพื่อเป็นคนเลว และหากได้รับโอกาสที่จะแก้ไข ก็มั่นใจว่าทุกคนจะตั้งใจใช้โอกาสนั้นทำให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ ภายในงานมีการแสดงของกลุ่มใบไม้ไหว บอกเล่าประวัติ รายละเอียดของโทษประหารชีวิตออกมาเป็นรูปแบบละครอย่างเข้าใจง่าย มีเสียงไวโอลินบรรเลงสอดรับจังหวะสร้างความตื่นเต้นและความเศร้า นักแสดงซึ่งปรับเปลี่ยนบทไปตามเหตุการณ์ที่สร้างขึ้น เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้มีขึ้นเพื่อป้องกันอาชญากรรม และตั้งคำถามว่า การยุติความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรง จะทำให้ความรุนแรงหมดไปจากโลกจริงหรือ?
สำหรับประเทศไทย ได้ยุติการประหารชีวิตไประหว่างปี 2546-2551 (ยังมีโทษอยู่แต่ไม่มีการนำนักโทษไปประหาร) แต่ในวันที่ 24 ส.ค. 2552 มีการฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษชาย 2 คนที่เรือนจำบางขวาง คือ นายบัณฑิต เจริญวานิช อายุ 45 ปี และยานจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ อายุ 52 ปี ที่ถูกจับกุมข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2544 และศาลตัดสินลงโทษประหารชีวติ โดยรายงานข่าวระบุว่า ทั้ง 2 คน ได้รับแจ้งล่วงหน้าเพียง 60 ปี ก่อนถูกประหาร
ในเดือนธันวาคม 2553 การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ มีมติสนับสนุนข้อตกลงชั่วคตราวเพื่อยุติการประหารชีวิต ซึ่งประเทศไทยได้งดออกเสียงชั่วคราวในที่ประชุม แต่ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง เพราะในปี 2550 และ 2552 ประเทศไทยได้ออกเสียง "ไม่รับรอง" ต่อคำประกาศยุติโทษประหารชีวิตชั่วคราว
โทษประหารชีวิตขัดต่อหลักปฏิญญาสากลข้อที่ 3 ที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสระและปลอดภัย และข้อที่ 5 ที่ว่า ไม่มีใครมีสิทธิข่มเหงทารุณเรา
แท็กที่เกี่ยวข้อง: