ตำนานหวี จากหลักฐานที่ขุดพบที่มีอายุไม่น้อยกว่า 1,500 ปี
หวีสับจากงาช้างที่ซี่หวียาวไม่ถึง 5 มิลลิเมตร ที่มีอายุกว่า 1,500 ปี ขุดพบที่ตำบลจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ มีลวดลายมงคล 8 สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ และพลังอำนาจ รวมทั้งวัสดุจากงาช้าง เชื่อว่าเป็นเครื่องใช้ของชนชั้นสูง เป็นหลักฐานแสดงถึงการจัดแต่งทรงผมด้วยหวีที่มีมาแต่อดีต
ไม่เพียงทรงผมที่บอกค่านิยม และชนชั้น แต่การใช้หวียังบอกถึงกลุ่มคนแตกต่างหญิงในราชสำนักจะใช้หวียี และแปรงเพื่อการเกล้าผมให้สวยงาม แตกต่างจากคนทั่วไปที่ใช้หวีเสนียดเพื่อการดูแลสุขภาพหนังศีรษะ กำจัดเหา และตัดผมสั้นเพื่อให้ดูแลง่าย
ในอดีตหวีทำขึ้นจากวัสดุตามธรรมชาติ เช่น ไม้ หรือกระดูกสัตว์ ต่อมาพัฒนาเป็นหวีพลาสติกและ โลหะ นอกจากหน้าที่จัดแต่งทรงผม ยังถูกออกแบบให้ช่วยถนอมหนังศีรษะ และเส้นผม เช่น หวีจากขนหมู ที่ออกแบบให้ซี่หวีมีปุ่มสำหรับนวดหนังศีรษะ ช่วยให้เลือดไหลเวียน ในร้านเสริมสวยที่มีหวีหลากหลายยังหมายถึงความชำนาญของช่างผม
ก่อนประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นักบวชคริสต์ต้องหวีผมทุกครั้ง เป็นสัญลักษณ์ของการละทิ้งความคิดฟุ้งซ่าน ธรรมเนียมของหลายกลุ่มยังฝังหวี หรือ เผา พร้อมไปกับผู้วายชนม์ อันเป็นปลายทางสุดท้ายของชีวิต
แท็กที่เกี่ยวข้อง: