หลังมีคำตัดสินของศาลโลก คณะทำงานต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมประชุมพร้อมกับการเทเลคอนเฟอเรนซ์มายังทำเนียบรัฐบาล เพื่ออธิบายรายละเอียดในคำตัดสินที่ได้มีการวิเคราะห์และตีความในเบื้้องต้นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบ โดยนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงกรณีดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าคำตัดสินให้คุณกับประเทศในหลายประเด็น พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะรักษาอธิปไตย และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างเต็มที่
ขณะที่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสรุปสาระของคำพิพากษาว่า ศาลรับตีความคำร้องของกัมพูชา แต่ไม่ได้รับตามคำขอของกัมพูชา ซึ่งการพิพากษาครั้งนี้เป็นไปตามแนวทางการต่อสู้คดีของไทยมาโดยตลอด และศาลได้ให้ข้อเสนอแนะให้ไทยและกัมพูชาทั้งสองฝ่ายไปหารือกัน เพื่อรักษาสิ่งที่เป็นมรดกโลก
ขณะที่ นายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะต่อสู้คดีฝ่ายไทย อธิบายย้ำว่าขอให้คนไทยอย่าไปคิดว่าเป็นผู้ชนะ หรือเป็นผู้แพ้ต้องสูญเสียดินแดน โดยคำตัดสินขณะนี้ถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่หากมีข้อขัดแย้งสามารถนำมาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี แต่ต้องมีหลักฐานข้อเท็จจริงใหม่ เบื้องต้นไทยไม่มีการเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่ภูมะเขือ ตามที่กัมพูชาร้องขอต่อศาล ยกเว้นพื้นที่ชะง่อนผา ที่มีการคำนวณกันและหารือกันตามคณะกรรมาธิการร่วม หรือ เจซี ไทย-กัมพูชา ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ยืนยันว่า คำตัดสินในครั้งนี้ไม่มีเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล เพราะศาลไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย
แม้จะยังไม่สามารถตีความได้อย่างสมบูรณ์ เกี่ยวกับความได้เปรียบเสียเปรียบจากคำตัดสินของศาลโลก โดยหลังจากนี้จะต้องมีการตีความคำพิพากษา ก่อนสรุปให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาดำเนินการ โดยเฉพาะประเด็นพื้นที่ที่ศาลได้กำหนดพื้นที่ใหม่ โดยไม่อิงกับแผนที่ของกัมพูชา หรือไม่อิงต่อแผนที่ของไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ในรายละเอียดของการคำนวณพื้นที่อีกครั้ง
ส่วนกรณีการบริหารจัดการเขาพระวิหาร ที่ศาลแนะนำให้ดูแลร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าจะต้องใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่จะประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี แต่เบื้องต้นมีความคืบหน้าว่า จะมีการนัดหมายเพื่อร่วมประชุมกับกัมพูชาอีกครั้ง
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ตั้งข้อสังเกตต่อคำพิพากษาของศาลโลก พร้อมมีข้อเสนอให้กับรัฐบาล 4 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐบาลอย่าเพิ่งรีบปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก 2.ควรตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างละเอียด โดยจะต้องมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปร่วมด้วย 3.ในอนาคตหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นผลสำเร็จรัฐบาลจะต้องดำเนินการเอาข้อตกลงเกี่ยวกับกัมพูชา ในประเด็นปราสาทพระวิหารเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา และ 4.หากมีกรณีใดที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามศาลโลกหรือไม่ ควรใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำประชามติให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยรัฐบาลจะต้องไม่ตัดสินใจเพียงลำพัง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: