เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.2563) น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์รองรับการจัดตั้ง SSF เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2563 และเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถเสนอขายกองทุนดังกล่าวให้ผู้ลงทุนที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว ก.ล.ต. จึงได้เปิดให้มีการอนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แบบอัตโนมัติ (auto-approval) สำหรับ SSF ที่ไม่ได้มีลักษณะซับซ้อน ซึ่งปัจจุบัน ณ วันที่ 4 มี.ค.2563 ก.ล.ต.ได้อนุมัติ SSF ไปแล้ว 17 กองทุน
ทั้งนี้ หลังจากที่กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ SSF และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียด ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามลำดับแล้ว ในส่วนของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะเตรียมจัดทำประกาศเกี่ยวกับระบบในการขายคืนหน่วยลงทุน เพื่อขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.ในลำดับถัดไป เพื่อให้ บลจ.มีระบบงานที่เป็นมาตรฐานและสอดคล้องกับเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ไม่บังคับลงทุนทุกปี-รับสิทธิทางภาษีสูงสุด 30%
สำหรับผู้ลงทุนสามารถลงทุนใน SSF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ และกองทุนเกษียณอื่นๆ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
นอกจากนี้ ไม่ได้กำหนดให้ต้องลงทุนทุกปีแต่อย่างใด อีกทั้ง SSF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และทรัพย์สินทางเลือก จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเริ่มสะสมเงินเพื่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยสามารถเลือกลงทุนในนโยบายการลงทุนต่างๆ ได้ตามระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: