วันนี้ (6 พ.ค.2563) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จากผลกระทบจาก COVID-19 ให้ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เป็นร้อยละ 75 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ส่วนจะขยายระยะเวลาการจ่ายเงินจากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือน พ.ค.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป สำนักงานประกันสังคมก็ยังมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายได้อย่างน้อย 5 เดือน เพราะมีการประเมินสถานะและบริหารจัดการเงินกองทุนอยู่ตลอดเวลา
สปส.จ่ายเงินว่างงานกว่า 2.5 พันล้านบาท
ขณะเดียวกัน จะเสนอที่ประชุม ครม.ให้ปรับลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง และขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ทยอยจ่ายเงินกรณีว่างงานไปแล้ว 492,273 คนเป็นเงินจำนวน 2,563.612 ล้านบาท จากผู้มีสิทธิ 990,523 คน ซึ่งในงวดแรกจะจ่ายเงินให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 15 พ.ค.
กำชับนายจ้างเร่งรับรองการหยุดงานลูกจ้าง
ขณะเดียวกัน ขอให้สถานประกอบประมาณ 50,000 แห่ง เร่งดำเนินการรับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตน จำนวน 289,104 คน ภายในวันที่ 8 พ.ค. ส่วนกรณีผู้ประกันตนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานนั้น สำนักงานประกันสังคมได้เตรียมช่องทางให้ยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง หรือส่งเอกสารตอบกลับมายังสำนักงานประกันสังคม