เส้นทางชีวิต "บิ๊กโจ๊ก" เจอทางตัน หมดหวังชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 15

อาชญากรรม
6 ส.ค. 67
17:23
4,474
Logo Thai PBS
 เส้นทางชีวิต "บิ๊กโจ๊ก" เจอทางตัน หมดหวังชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 15
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"บิ๊กโจ๊ก" หมดหวังลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 15 หลัง ก.พ.ค.ตร. ยกอุทธรณ์ชี้คำสั่งให้ออกฯ ชอบด้วยกฎหมาย หลังคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567 เป็นคำสั่งที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมาย และ กฎ ก.ตร. กำหนดและเป็นการใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

"วินิจฉัยยกอุทธรณ์และยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวของผู้อุทธรณ์"

นี่คือ ข้อยุติ การอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ให้พิจารณาและวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่ง เพราะเห็นว่า เป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผลวินิจฉัย ยกอุทธรณ์ ของ ก.พ.ค.ตร. เสมือนการปิดประตูกลับสู่รั้วปทุมวันของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ นั่นหมายถึง หมดสิทธิ์ลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 15 ไปโดยปริยายอีกด้วย

เพราะต่อให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 90 วัน ตามสิทธิก็เป็นกระบวนการพิจารณาที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างน้อยคือ 2 ปี และยังต้องรอลุ้นผลคำพิพากษาของศาลอีกชั้นหนึ่งด้วยว่า จะออกมาในทิศทางที่เป็นคุณต่อตัวเองหรือไม่  

ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ที่มีสิทธิเข้าชิง ผบ.ตร.คนต่อไป พ่วงด้วยอาวุโสลำดับที่ 1 

การแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 15 คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ หลังวันที่ 5 โดยยึดตามประกาศ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจปี พ.ศ.2567 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 5 เม.ย.2567 โดยจะมีผลบังคับ 180 วันให้หลัง ที่มีประกาศฯ

คำวินิจฉัยชัด "พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ" ใช้อำนาจชอบด้วยกฎหมาย

กรรมการเจ้าของสำนวนได้แสวงหาข้อเท็จจริง ตามอำนาจหน้าที่ และ กฎ ก.พ.ค.ตร.ว่าด้วยอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2567 โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน นับจากวันที่ประธาน ก.พ.ค.ตร. จำหน่ายคดีให้รับผิดชอบ ในช่วงปลายเดือน เม.ย. หลังการยื่นคำร้องของพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ในวันที่ 25 เม.ย.2567

30 ก.ค. คือ วันที่คู่กรณีอุทธรณ์ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ผู้ลงนามคำสั่งให้ออกจากราชการฯ ด้วยอำนาจรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อ ก.พ.ค.ตร. 6 คน ซึ่งนั่นคือ การชี้แจงครั้งสุดท้าย ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะประชุมพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ รวม 3 นัด กระทั่งมีผลวินิจฉัย "ยกอุทธรณ์"

ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ คำขอคุ้มครองชั่วคราว คำชี้แจงของผู้อุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ คำชี้แจงและเอกสารที่เกี่ยวข้องของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย และการแถลงด้วยวาจาของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายรับฟังได้ว่า

"ผู้อุทธรณ์ได้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดอาญา และถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คู่กรณีในอุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ออกคำสั่งอาศัยอำนาจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 105, มาตรา 107, มาตรา 131 และมาตรา 179 ประกอบ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน"

สาระสำคัญในเอกสารเผยแพร่ ได้บรรยายการใช้อำนาจอย่างถูกต้อง ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เอาไว้ด้วย หากขยายความให้ละเอียดมากขึ้น คือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ใช้อำนาจในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 มาตรา 105

ขณะที่ พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 มาตรา 131 ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่า กระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 อันหมายถึงผู้ที่รักษาราชการแทนผู้บังคับบัญชา มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน กฎ ก.ตร. ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร. ยังไม่ได้ออกกฎ ในเรื่องดังกล่าว

ตามมาตร 179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า ในระหว่างที่ไม่ได้ออกกฎ ก.ตร. ให้นำ กฎ ก.ตร. ซึ่งยังใช้อยู่เดิมมาบังคับใช้เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

ด้วยเหตุนี้การดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 47 นั่นเอง

คณะกรรมการฯ ได้ส่งคำวินิจฉัยไปให้ผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์ทราบ ซึ่งปรากฏหลักฐาน ว่า "คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้รับคำวินิจฉัยแล้ว"

หาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ผู้อุทธรณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. ยังมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วันนับ แต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนี้

ลุ้นผลสอบวินัยร้ายแรง โทษ "ปลด-ไล่ออก" เท่านั้น

ทันทีที่ ก.พ.ค.ตร. เปิดเผยผลวินิจฉัย ก็มีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณากำหนดนัด พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ พร้อมพวกรวม 5 คน ให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน สมคบกันกระทำความผิด ฐานฟอกเงินและเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ตามที่สมคบกัน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

สำหรับการดำเนินการทางวินัย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 มาตรา 125 ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก ผู้ถูกลงโทษปลดออกตามมาตรานี้ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่า ผู้นั้นลาออกจากราชการ

คณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็น ประธานฯ ว่ากันตามตรง ผลของการพิจารณาโทษทางวินัยร้ายแรง ย่อมส่งผลกระทบต่อ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ได้มากกว่า ผลวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ของ ก.พ.ค.ตร.

เพราะหากผลออกมาเป็นลบ โทษทัณฑ์ที่จะได้รับ ย่อมส่งผลต่อเกียรติประวัติชีวิตข้าราชการตำรวจตลอด 30 ปี ของ "บิ๊กโจ๊ก" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงานพิเศษ : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง