วันที่ 2-4 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา มีการจัดงาน KICK OFF เปิดตัวภาคีอาสา (Area Strengthening Alliance - ASA) หรือ “ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง” ขึ้นเพื่อสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยมีผู้บริหารหน่วยงานยุทธศาสตร์ระดับประเทศเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ด้วย 7 หน่วยงาน คือ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
นับเป็นครั้งแรกที่มีการบูรณาการการทำงานของทั้ง 7 หน่วยงาน ในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดนำร่อง คือ ขอนแก่น นครสวรรค์ ตราด พัทลุง และเชียงราย เพื่อสร้างจังหวัดเข้มแข็ง ไม่ทำงานซ้ำซ้อน และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะขยายการทำงานไปทั่วประเทศ
ภายใต้แนวคิดภาคีอาสานี้ ไม่ใช่การสร้างงานใหม่ แต่เป็นการบูรณาการงานที่มีอยู่เดิมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยก้าวข้ามพรมแดนระหว่างองค์กร ที่เคยเป็นอุปสรรค สู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนร่วมกัน
การประชุมระดมความเห็นจากภาคี 7 หน่วยงาน ด้านยุทธศาสตร์ขบวนการประชาสังคมและแผนการทำงานของภาคีหลายครั้ง มีมติให้จัดตั้ง “ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง” (ภสพ.) ขึ้น โดยมี ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน และมี นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้ทำงานภาคีอาสา เพื่อทำงาน “สร้างจังหวัดเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นฐานและบูรณาการทุกภาคส่วน”
ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่เป้าหมายเดียวกันของขบวนการประชาสังคม เพื่อสถาปนาอำนาจประชาชน โดยสร้างประชาธิปไตยจากฐานรากตามวิถีประชาธิปไตย ผลักดันการกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเอง ในระดับจังหวัดและพื้นที่ โดยมีแผนงานกันทั้งระยะยาวและแผนระยะสั้นรายปี เพื่อสร้างจังหวัดเข้มแข็ง โดยใช้พื้นที่เป็นฐานและบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ความหมายของจังหวัดเข้มแข็ง คือพื้นที่ที่มีพลังในการขับเคลื่อนตนเองได้ ด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วน ใช้ข้อมูลนำการตัดสินใจ มีพื้นที่กลางและกลไกแก้ปัญหาที่คล่องตัว สามารถจัดการทรัพยากรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นฐานรากประชาธิปไตยของสังคมที่เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถรองรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรืออุบัติใหม่ในอนาคต
การสร้างชุมชนเข้มแข็งและกลไก “พื้นที่กลาง” ระดับจังหวัด จะเป็นจุดคานงัดประเทศไทยที่สำคัญกับระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์ในอดีต ที่เกิดปัญหาชนชั้นนำ มักเข้าครอบงำรัฐและทุนเพื่อยึดอำนาจในการจัดการทรัพยากร เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ชุมชนเข้มแข็งและพื้นที่กลาง จะเป็นการสร้างสะพานประชาธิปไตยจากฐานรากเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยอย่างแท้จริง และมีเสถียรภาพมากขึ้น
สอดคล้องกับการกระจายอำนาจในศตวรรษใหม่ ซึ่งจังหวัดที่เข้มแข็งจะสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้เอง โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากส่วนกลาง สามารถระดมทรัพยากรทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคมมาใช้ร่วมกันอย่างบูรณาการ สร้างนวัตกรรมการจัดการปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ความยั่งยืนในการบูรณาการครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดความเข้มแข็งของฐานรากชุมชนขึ้นทั่วประเทศ กลไกพื้นที่กลาง และรูปแบบการจัดการรูปธรรมในพื้นที่ จะสามารถกำหนดความยั่งยืนในระยะยาว สามารถสร้างประชาธิปไตยที่มีฐานรากแข็งแรง และประชาชนในพื้นที่มีอำนาจในการจัดการตนเอง ทั้งทางวัฒนธรรมและกฎหมาย เกิดความเข้มแข็งของประชาชนในทุกพื้นที่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับชาติ นำไปสู่รากฐานของประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและประเทศที่มั่งคงมีเสถียรภาพ ในภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลง
เรียบเรียง : เมธา มาสขาว ผู้อำนวยการสถาบันสังคมประชาธิปไตย
อ่านข่าว : กมธ.เชิญ 3 หน่วยงานแจง สปส.ยันประกันสังคมสิทธิไม่ด้อยกว่าบัตรทอง
สบส.ชี้เข้าข่ายหมอเถื่อน กลุ่มคลื่นพลังบุญอวดอ้างอิทธิฤทธิ์รักษาโรค
"อนุทิน" เผยหารือราบรื่น เร่งทำ MOU ลดขั้นตอน ส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล