วันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.2568 ที่จะถึง เป็นวันเลือกตั้ง "สมาชิกสภาเทศบาล" และ "นายกเทศมนตรี" ทั่วประเทศใน 76 จังหวัด ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีการเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. - 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
หากใครมีสิทธิเลือกตั้งอย่าลืม ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้ ณ หน่วยเลือกตั้ง หรือจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ถ./ผ.ถ. 1/6) หรือ Application Smart Vote, Application ทางรัฐ หรือเว็บไซต์ https://borasenvices.bora.dopa.go.th/election/
ทุกเสียงในการเลือกตั้งของ คือพลังเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้

ภาพ : คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ภาพ : คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ทำไมต้องเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล - นายกเทศมนตรี
การเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และ นายกเทศมนตรี มีความสำคัญ นั้นเพราะเทศบาลคือหน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลกับชีวิตของคนในพื้นที่
อำนาจและหน้าที่ของเทศบาล มีหน้าที่ที่ต้องทำในเขตที่รับผิดชอบ เช่น การจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ การจัดเก็บขยะ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดูแลการจราจร การจัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา รวมทั้งการจัดการเพื่อสนับสนุนเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก การบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอัน ดีงามของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับประเภทของเทศบาล
ส่วนอำนาจและหน้าที่ นายกเทศมนตรี นั้นคือ กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับเทศบัญญัติ นโยบาย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมายบัญญัติ โดยมี ปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชา พนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล รองจากนายกเทศมนตรีและรับผิดชอบดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบายและมีอำนาจหน้าที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย
การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล มีกี่ประเภท
การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล แบ่งเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาล ดังนี้
- เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
- เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง
- เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร
การได้มาซึ่ง นายกเทศมนตรี -สมาชิกสภาเทศบาล
นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยมีที่มาดังนี้ จำนวนสมาชิกสภาเทศบาล แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- เทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนคร ได้ 24 คน
- เทศบาลเมือง มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมือง ได้ 18 คน
- เทศบาลตำบล มี 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ได้ 12 คน
ขณะที่ จำนวนนายกเทศมนตรี เทศบาลทุกประเภท มีนายกเทศมนตรีได้เทศบาลละ 1 คน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งนายกเทศมนตรีได้ 1 คน และลงคะแนนเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลได้ไม่เกิน 6 คน
วาระการดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรี - สมาชิกสภาเทศบาล
- นายกเทศมนตรี มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ ไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีก็ให้ถือเป็น 1 วาระและเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง
- สมาชิกสภาเทศบาล อายุของสมาชกสภาเทศบาล มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี - สมาชิกสภาเทศบาล
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
- คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
** มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ขั้นตอน การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล-นายกเทศมนตรี
1. ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้
- ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน
- การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย
2. หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง
- บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรหมดอายุก็ใช้ได้)
- บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตรที่ยังไม่หมดอายุ เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ , ใบขับขี่ , หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
- เปิดผ่านแอปฯ แสดงหลักฐานแบบออนไลน์
- แอปฯ ThaID (บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์)
- แอปฯ DLT QR LICENCE (ใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์)
- แอปฯ บัตรคนพิการ (บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล)
3. รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง โดยรับบัตรเลือกตั้ง ดังนี้
- รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและบัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
- รับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ถ้าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลประเภทเดียว โดยบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลจะมีสีบัตรเลือกตั้งเป็น "สีเขียว" ขณะที่บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี จะมีสีบัตรเลือกตั้งเป็น "สีเหลืองทอง"
4. เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมาย
- บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เลือกผู้สมัครได้ 1 คน
- บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลได้ไม่เกิน 6 คน
- หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
5. พับบัตรเลือกตั้งแล้วหย่อนใส่หีบบัตรด้วยตนเอง
เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
เช็ก 10 ข้อ การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น
ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้ใดกระทำการอันผิดกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ดังนี้
- ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วย ฝ่าฝืนโทษเช่นเดียวกับข้อแรก
- ห้ามผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งพยายามออกเสียงลงคะแนน ฝ่าฝืนโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- ห้ามทำเครื่องหมายอื่นใดบนบัตรเลือกตั้งนอกจากการลงคะแนน ฝ่าฝืนโทษเช่นเดียวกับข้อสาม
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งใส่หีบโดยไม่มีอำนาจ หรือกระทำการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง ฝ่าฝืนโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
- ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งในคูหา ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 200 บาท
- ห้ามแสดงบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นทราบ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 200 บาท
- ห้ามเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนน ฝ่าฝืนโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
- ห้ามทำบัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย ฝ่าฝืนโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ห้ามทำบัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือทำบัตรเสียโดยมีเจตนาให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือทำบัตรปลอม ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำได้หรือไม่
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง
ทำหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางออนไลน์ ผ่านทางแอปฯ Smart Vote หรือเว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/abscauselocal/
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ มีอะไรบ้าง
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเคยแจ้งเหตุไม่สามารถไปเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า แล้วเหตุที่แจ้งไว้สิ้นสุดลงก่อนหรือในวันเลือกตั้ง ผู้นั้นสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่หน่วยเลือกตั้งตามสิทธิของตน
หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ อย่างไรบ้าง
- สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น สว.
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "นายกเทศมนตรี- สมาชิกสภาเทศบาล" อย่าลืมออกไปใช้สิทธิของตน ในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 - 17.00 น.
อ่านข่าว : “สมุนไพร” ในบัญชียาหลัก “ไม่ใช่เรื่องใหม่”
ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวน "ทักษิณ" 13 มิ.ย.ปมรักษาตัวชั้น 14 ตีตกคำร้อง "ชาญชัย"