ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "แอนแทรกซ์" ให้ดีขึ้น ป้องกัน-ลดเสี่ยงติดโรค

สังคม
1 พ.ค. 68
11:17
409
Logo Thai PBS
รู้จัก "แอนแทรกซ์" ให้ดีขึ้น ป้องกัน-ลดเสี่ยงติดโรค
อ่านให้ฟัง
07:25อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กรณีอำเภอดอนตาล จ.มุกดาหาร ออกประกาศมาตรการควบคุมโรค หลังพบผู้เสียชีวิต 1 คน จากการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ พบประวัติสัมผัสโค กระบือและกินเนื้อวัว

"แอนแทรกซ์" ไม่ใช่โรคใหม่ แต่รู้จักกันมานาน ชาวบ้านเรียกว่า "โรคกาลี" นับเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacillus anthracis เชื้อทนความร้อน และเย็นได้ดี สามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี

โรคนี้มักเกิดในพื้นที่ที่เคยพบการระบาด แต่อาจมากับพ่อค้าที่นำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ซึ่งเชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือ ที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป

ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม คนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย รวมทั้งการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายแล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ขณะที่สัตว์จะติดโรคจากการกินและหายใจโดยได้รับสปอร์ ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ตายด้วยโรคนี้มาก่อน

ระยะฟักตัว

เมื่อคนได้รับเชื้อดังกล่าวแล้วจะแสดงอาการในช่วง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่กรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจนานถึง 60 วัน ส่วนในสัตว์มักมีระยะฟักตัวเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป

อาการในคน

แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (cutaneous anthrax) จะเริ่มเกิดเป็นตุ่มแดงตรงที่รับเชื้อ ส่วนมากอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์ ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (black escalate) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

ในเวลาเดียวกันถ้ายังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบ ๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ บางครั้งรอบ ๆ แผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อนี้จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตาย และมีอัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก อยู่ระหว่างร้อยละ 5-20

แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่าง ๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้ ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60

นอกจากนี้ มีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากนาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า

แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ (pulmonary anthrax) โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรก ๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยระบบนี้จะสูงมากถึงร้อยละ 80-90

อาการในสัตว์

ในสัตว์มักพบว่ามีไข้สูง ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ไม่กินหญ้า แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือบางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะตายเร็วมาก เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นคาวจัด ซากนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้

มาตรการป้องกันโรค

เมื่อพบสัตว์ตายกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีข้อบ่งชี้ดังกล่าว ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย หากไม่ผ่าซากเชื้อที่อยู่ภายในซากจะตายจนหมดหลังสัตว์ตาย 2-3 วัน โดยกระบวนการเน่าสลายตามธรรมชาติ

ให้ขุดหลุมฝัง ลึกกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2-3 ซม.แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติ และควรเลือกฝังจุดที่ใกล้ที่สุด และเคลื่อนย้ายซากน้อยที่สุด

ส่วนในพื้นที่ที่มีโรคแอนแทรกซ์ระบาด ควรกักสัตว์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยนับวันแรกหลังจากพบโรคในสัตว์ตัวสุดท้าย ควรใช้ ammonium quaternary compound ใส่ไปในโพรงน้ำ หรือแอ่งน้ำจะช่วยลดอัตราการเกิดโรค

นอกจากนี้ การป้องกันโรคให้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปศุสัตว์ เพื่อวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในสัตว์ ทั้งในโค กระบือ และสุกร ปีละ 2 ครั้ง ในท้องที่ซึ่งมีการระบาดของโรคนี้

อ่านข่าว : สสจ.มุกดาหาร เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง "โรคแอนแทรกซ์" 

เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ หลังชาวบ้านเสียชีวิต 1 คน จ.มุกดาหาร 

เคสชายป่วยโรคแอนแทรกซ์ดับ พบร่วมชำแหละโค-กินดิบ 247 คน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง