วันนี้ (1 พ.ค.2568) กลุ่มพยาบาลห้องฟอกไตประมาณ 30 คน ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานมานานกว่า 10-30 ปี ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉบับวันที่ 11 ก.พ.2568 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นที่ 1 ต้องผ่านการอบรมการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จากสถาบันที่สภาการพยาบาลรับรอง
ส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพโรคไตที่ผ่านอบรมการใช้เครื่องฟอกไตเทียมในหลักสูตรเก่า ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนการฟอกไต เนื่องจากสภาการพยาบาลไม่ให้การรับรอง ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติงานของพยาบาลกลุ่มนี้และอาจกระทบต่อผู้ป่วยโรคไตทั่วประเทศ หากห้องฟอกไตต้องปิดตัวลงเพราะขาดบุคลากรที่ได้รับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นางพิราวรรณ ศรีไหม ตัวแทนพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า พยาบาลเหล่านี้ผ่านการอบรมฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และสอบผ่านการขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย แต่กลับไม่สามารถปฏิบัติงานต่อได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากประกาศฉบับใหม่กำหนดให้พยาบาลต้องได้รับใบอนุญาตเวชปฏิบัติเฉพาะทาง ซึ่งสภาการพยาบาลไม่รับรองหลักสูตรที่กลุ่มพยาบาลเคยเรียนมา แม้จะเป็นหลักสูตรของหน่วยงานรัฐและใช้มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี
กลุ่มพยาบาลจึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าว พร้อมขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องและไม่กระทบต่อการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยฟอกเลือดที่จำเป็นต้องรับบริการต่อเนื่องทุกวัน
นางพิราวรรณ ระบุว่า ปัจจุบันมีพยาบาลที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1,000 คน แต่หลักสูตรอบรมที่เปิดใหม่รองรับได้เพียง 250 คนต่อรอบและมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 40,000 บาท รวมถึงหลักสูตร ACLS (การกู้ชีพขั้นสูง) ที่ต้องเรียนเพิ่มอีกหลักพันบาท ทั้งที่ในอดีตเคยปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องผ่านหลักสูตรเหล่านี้และดูแลผู้ป่วยมาโดยตลอด
กลุ่มพยาบาลตั้งข้อสังเกตว่า ข้อบังคับสภาการพยาบาลที่ออกตั้งแต่ปี 2563 แต่เพิ่งมีการแจ้งเตือนในปี 2567 ทำให้พยาบาลหลายคนไม่ทราบล่วงหน้าและไม่ทันปรับตัว ขณะเดียวกัน จำนวนพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ผลิตได้ต่อปีมีเพียง 500 คน แต่ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องมีประมาณ 70,000 คนทั่วประเทศ โดยข้อกำหนดระบุให้มีพยาบาลอย่างน้อย 1 คนต่อผู้ป่วย 4 คน ทำให้ระบบมีความเสี่ยงสูงหากพยาบาลที่ทำงานอยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
กลุ่มพยาบาลเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และศาลปกครอง พิจารณาทบทวนประกาศฉบับใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาการฟอกเลือดอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้พยาบาลที่มีประสบการณ์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อ่านข่าว
เคสชายป่วยโรคแอนแทรกซ์ดับ พบร่วมชำแหละโค-กินดิบ 247 คน