ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เคสชายป่วยโรคแอนแทรกซ์ดับ พบร่วมชำแหละโค-กินดิบ 247 คน

สังคม
1 พ.ค. 68
10:32
1,514
Logo Thai PBS
เคสชายป่วยโรคแอนแทรกซ์ดับ พบร่วมชำแหละโค-กินดิบ 247 คน
อ่านให้ฟัง
05:14อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดไทม์ไลน์ ชาย 53 ปีป่วยโรคแอนแทรกซ์เสียชีวิต พบประวัติชำแหละเนื้อวัวก่อนแจกจ่ายกินในหมู่บ้าน ล่าสุดทีมสอบสวนควบคุมโรค-กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบผู้สัมผัส 247 คน เป็นผู้ที่ชำแหละโค 28 คน กินเนื้อโคดิบ 219 คน พร้อมให้ยาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

วันนี้ (1 พ.ค.2568) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) 1 คน ใน จ.มุกดาหาร ว่า ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 53 ปี โรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน อาชีพรับจ้างก่อสร้าง เริ่มมีตุ่มแผลขึ้นบริเวณมือข้างขวาเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2568 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวันที่ 27 เม.ย.2568 ด้วยอาการแผลที่มือเริ่มมีสีดำชัดเจนขึ้น ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างขวาโต และมีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะเข้ารับการรักษา แพทย์สงสัยโรคแอนแทรกซ์ จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ผลพบเชื้อ Bacillus anthracis จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นคาดว่า ปัจจัยเสี่ยงมาจากการชําแหละโคในงานบุญผ้าป่า และนำเนื้อโคที่ชําแหละไปแจกจ่ายให้กินภายในหมู่บ้าน

ขณะนี้ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับทีมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้นพบผู้สัมผัสจำนวน 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละโค 28 คน และผู้ที่กินเนื้อโคดิบ 219 คน โดยได้ให้ยาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการป้องกันการควบคุมโรคในพื้นที่

โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสามารถก่อให้เกิดโรคได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แหล่งรังโรคหลักของเชื้อ คือ สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้โดยตรง

การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การกินเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง มีแผลคล้ายบุหรี่จี้ หายใจขัด หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในประเทศไทย ในปี 2543 รวม 15 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ได้แก่ พิจิตร 14 คน และพิษณุโลก 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งการระบาดที่พิจิตรมีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ได้รับเชื้อก่อนที่จะเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่จังหวัด ส่วนในพิษณุโลกพบว่าผู้ชำแหละมีบาดแผล โดยนำซากแพะเข้ามาชำแหละและกิน

ล่าสุดในปี 2560 พบผู้ป่วย 2 คน ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งคู่ได้ชำแหละซากแพะที่นำมาจากประเทศเมียนมาโดยถลกหนังแพะด้วยมือเปล่า ส่วนสถานการณ์ในประเทศที่มีพื้นที่ติดชายแดนไทย เมื่อปี 2567 ประเทศลาวพบผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์รวม 129 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน และเมื่อเดือน พ.ค.2566 ประเทศเวียดนาม พบการระบาดโรคแอนแทรกซ์ จำนวน 3 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยรวม 13 คน และผู้สัมผัสอีก 132 คน จากการกินเนื้อโคและกระบือเช่นกัน

นพ.ภาณุมาศ แนะนำการป้องกันโรคได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ, ล้างมือ ชำระล้างร่างกายหลังสัมผัสสัตว์, เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย, หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที และหากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านข่าว : เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ หลังชาวบ้านเสียชีวิต 1 คน จ.มุกดาหาร 

สสจ.มุกดาหาร เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง "โรคแอนแทรกซ์" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง