ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัมพันธ์ปริศนา “บิง ลินวู” ร่วมเฟรม “ตึกสตง.-รถไฟความเร็วไทย-จีน”

อาชญากรรม
1 พ.ค. 68
15:21
119
Logo Thai PBS
สัมพันธ์ปริศนา “บิง ลินวู” ร่วมเฟรม “ตึกสตง.-รถไฟความเร็วไทย-จีน”

ภาพถ่ายของ นาย วู บิงลิน หรือ “Wu Bingin” ที่ปรากฎในพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) มูล ค่า 2,136 ล้านบาท ระหว่างตัวแทนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)กับกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ก่อนการก่อสร้างจะเริ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อกังขาในประเด็นความสัมพันธ์กลุ่มทุนจีน โดยเฉพาะบริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.10 (ประเทศไทย) ว่า “วู บิงลิน” เข้าไปมีส่วนเกี่ยว ข้องมากน้อยเพียงใด

แม้ยังไม่ปรากฏข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.10 (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ก่ออาคารสตง.ที่ถล่มมีความเชื่อมโยงกับ หลายบริษัทในประเทศไทยที่เขาเป็นประธานกรรมการหรือไม่

แต่ประเด็นนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้ตัดทิ้งเสียเดียว หลังจากมีการตรวจสอบพบว่า นายชวนหลิง จาง “Chuanling Zhang“ สัญชาติจีน กรรมการผู้ถือหุ้น 49 % ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.10 (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจจีนที่ถูกส่งเข้ามาบริหารงานจริง

ไม่เพียงเท่านี้ แต่ในพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในปี 2560 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ -หนองคาย (ระยะที่1 ช่วงกทม.-นครราชสีมา) สัญญาที่ 3-1งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก -บันใดม้า

ยังมีภาพถ่ายของ นายวู บิงลิน “Wu Bingin” และ วู หลงเฉวียน (ลูกชาย) ร่วมกับนาย หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รักษาราชการแทน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ถูกตั้งคำถามว่า หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว บุคคลดังกล่าวสามารถเข้าไปร่วมเฟรมในฐานะตัวแทนของฝ่ายใด ในทั้ง 2 โครงการ

นายวู บิงลิน “Wu Bingin” มีชื่อภาษาไทย “ชาญชัย รุ่งโรจน์ธนเจริญ” และได้ใช้ชื่อดังกล่าวในการทำธุรกิจหลายบริษัท แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ตรวจสอบกับสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อเร็วๆ นี้ กลับไม่พบรายชื่อดังกล่าวอยู่ในสารบบ ทำให้เกิดคำถามอีกเช่นกันว่า เหตุใด “วู บิงลิน” จึงสามารถใช้ชื่อ “ชาญชัย” ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ง่ายดาย

ประเดิม 11 ตำแหน่งก่อนเข้าสู่วงโคจรทำธุรกิจในไทย “วู บิงหลิน” ( Wu Bingin ) นั่งในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารสหพันธ์แห่งเอเชียเพื่อส่งเสริมการรวมประเทศจีนอย่างสันติแห่งเอเชีย หรือสมาพันธ์ร่วมชาวจีนทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว ,นายกสมาคมจีนเตี้ยอันแห่งประเทศไทย, รองประธานสมาคมชาวแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย, รองประธานสามาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย, ผู้อำนวยการหอการค้าไทย-จีน , ที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจไทย-จีน ยุคใหม่, รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศสมาคมธุรกิจไทยรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ยังเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ สมาคมธุรกิจไทยรุ่นใหม่, ประธานกรรมการบริหารบริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, ประธานกรรมการบริษัทเอวาน่า อินเตอร์เนชั่นเนลจำกัด และประธานกรรมการบริษัทสันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด

สำหรับฐานการทำธุรกิจในประเทศไทยของนายชาญชัย หรือ “Wu Bingin” แบ่งเป็น 3 ช่วง เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2552- 2559 (ตามแผนภาพ) ของกลุ่มทุนเครือข่ายไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 รวมทุนจดทะเบียน 114.8 ล้านบาท มีจำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วย บจก.สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต , บจก. สันติภาพ การขนส่งไทย-จีน , บจก.ยูไนเต็ด สตาร์กรุ๊ป , บจก.วีล มาร์ท (ประเทศไทย), บจก.สันติภาพ พร้อพเพอร์ตี้ และบจก.ไฮหาน 

ในทั้ง 6 บริษัทมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ (มีรายชื่อนอมินีชาวไทย 3 คน คือ นายโสภณ มีชัย ,นายประจวบ ศิริเขตร และ นายมานัส ศรีอนันท์) อยู่บริษัทในเครือของนายวู บิงหลิน หรือนายชาญชัย กลุ่มทุนสัญชาติจีน ที่ชื่อว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจีเนียริ่งกรุ๊ป จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทไชนา เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย อีกทอดหนึ่ง

ส่วนฐานธุรกิจช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2560 พบข้อมูลกลุ่มทุนเครือข่ายไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ทุนจดทะเบียน 39 ล้านบาท มี 4 บริษัท ประกอบด้วย บจก.บี เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) บจก.โชคนิมิต บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส บจก.เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) และบจก.เอวานา อินเตอร์เนชั่นแนล (ตามแผนภาพ)

และฐานธุรกิจช่วงที่ 3 ระหว่างปี 2564-2567 กลุ่มทุนเครือข่ายไชน่า เรล เวย์ นัมเบอร์ 10 ทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท คือ บจก.เอที แคปปิตอล โซลูชั่น ,บริษัทสแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ ,บจก.ไซเบอ์ เทเลคอม และบจก.โมเยนเน่ (ประเทศไทย)

หากพิจารณาความเชื่อมโยงของเครือข่ายดังกล่าว ทั้ง 3 ช่วงจะเห็นว่า ช่วงแรกพบว่า มีชื่อของนายวู บิงลิน “Wu Bingin” นายอิทธิพัฒน์ วรดำรงกียรติ และชาวจีน 2 คน คือ Mr.Zhan Ronghan และ Mr.Chang Chea kun

ส่วนช่วงที่ 2 มีชื่อของ Mr.Yan Tao สัญชาติจีน และนายปิยะเดช วงศ์จันทร์ศิลป์ อยู่ใน 4 บริษัทดังกล่าว

และชื่อผู้เกี่ยวข้องกับ 4 บริษัท ช่วงที่ 3 คือ นายสามารถ มีชัย น.ส.วนิชชาเหล่าสำเนียง และ Mr.Chwi Choengtwe สัญชาติจีน, น.ส.สิริกัญญา เหว่าสำเนียง, นายอธิพันธ์ มีชัย และสาวจีนอีก 2 คน คือ Mrs.Cueney Huang และ Miss Chunhua Lou

ข้อมูลจากทั้งหมด 15 บริษัท มี 9 บริษัท ใช้ที่ตั้งเดียวกัน และอยู่ในอาคารเดียวกัน พบรายชื่อผู้ถือหุ้นร่วมกันหลายราย ทั้งนายโสภณ นายมานัส และ Wu Bingin มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า ทั้งหมด อาจเป็นเครือข่ายทุนจีนแฝงตัว โดยใช้วิธีการจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย แต่การกำกับดูแลธุรกิจเป็นของชาวจีน

นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าสังเกตว่า โครงสร้างฐานธุรกิจทั้ง 3 ช่วง ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทุนของ ChainaRailway No. 10 จะมีตัวละครสำคัญที่เคยปรากฏรายชื่อว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ราย คือ นายโสภณ ,นายมานัส และนายประจวบ ในบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ซึ่งอยู่ภายใต้ China Railway No.10 Engineering Group Co,Ltd โดยทั้งหมดถูกดีเอสไอ ตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นนอมินี ตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวพ.ศ.2542

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตั้งข้อหา 3 นอนิมีชาวไทย แต่การสอบสวนเพื่อหา ความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง บริษัทไชน่า เรลเวย์ ฯ นายชวน หลินจาง และนายชาญชัย หรือ Wu Bingin และ วู หลงเฉวียน (ลูกชาย) เพื่อหาจุดเชื่อม หรือ “ข้อต่อ”

เค้าลางที่พบนอกเหนือจากการร่วมเฟรมกับอดีตรมช.คมนาคม เมื่อครั้งกระทรวงคมนาคม ได้มีการทำสัญญาก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ( ทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2560 )

โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2572 โดยประกอบด้วย 15 สัญญา (งานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา) ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญ ญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอการลงนาม 3 สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีการนำขบวนรถรุ่น Fuxing Hao (ฟู่ซิงห้าว) CR300AF ที่ผลิตโดยบริษัทไชน่า เรลเวย์ คอน สตัรคชัน คอร์ปอเรชั่น ( CRCC ) มาใช้วิ่งให้บริการด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของ นายวู บิงลิน “ Wu Bingin” หรือชาญชัย ที่พบคือ ข้อมูลจากภาพถ่ายการลงนามข้อตกลง ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระ หว่าง นายซ่ง เจี้ยนหรง ประธานบริษัท Shanxi Hengtai Jianye Group และนายวู บิงหลิน หรือชาญชัย ประธานบริษัทสันติภาพ อิมปอร์ตเอ็กปอร์ตจำกัด

โดยระบุว่าบริษัท Shanxi Hengtai Jianye Group จะลงทุน 100 ล้านหยวน เพื่อสร้างฐานการผลิตเชิงพาณิชย์ 2 แห่ง ซึ่งมีผลผลิตต่อปี 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในประเทศไทย และบริษัทสันติภาพ ฯ จะลงทุน 25 ล้านหยวน เพื่อจัดหาที่ดินและเงินทุนดำเนินการสำหรับฐานการผลิตคอนกรีตเชิงพาณิชย์

หมายเหตุ: สำหรับรายชื่อบุคคลที่ปรากฏมี 4 คน คือ นายชวน หลินจาง นายโสภณ นายมานัส และนายประจวบ ดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหา และทุกคนได้รับการประกันตัวไปแล้ว แต่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา ให้สันนิษฐานว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ส่วนคนอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการสืบสวนและขยายผล ยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาและกล่าวโทษผู้ใดเพิ่มเติมจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน

อ่านข่าว:

"ตึกสตง.ถล่ม-ศรัทธาพัง" คำถามที่ไร้คำตอบ 1 เดือน ใครรับผิด ?

มือเจาะพื้นที่เลือกตั้งซ่อม “กล้าธรรม” สร้างซุ้มใหม่(ใหญ่)การเมือง

ศึกหนักรัฐบาล “ตัดงบ3.5 หมื่นล้าน” ผิดรธน.144 รีเซ็ตครม.ยกชุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง