ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จี้รัฐบาลเร่งเจรจาเมียนมา หยุดทำเหมืองทองก่อมลพิษ ชี้กระทบสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

Logo Thai PBS
จี้รัฐบาลเร่งเจรจาเมียนมา หยุดทำเหมืองทองก่อมลพิษ ชี้กระทบสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอ 3 ข้อ เรียกร้องเร่งประเมินผลกระทบเหมืองทองเมียนมา “เศรษฐกิจ-สุขภาพ-ฟื้นฟู” เสนอรัฐบาลเร่งเจรจาหยุดแหล่งกำเนิด ชี้เชียงรายอาจเป็นพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษใหญ่ที่สุดของประเทศหากไม่เร่งแก้ไข

วันนี้ (3 พ.ค.2568) น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในเวที "แก้ปัญหาเหมืองแร่ในเมียนมา ผลกระทบข้ามพรมแดนปนเปื้อนสารโลหะในแม่แม่น้ำกก-สาย" ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ระบุว่า หลังจากติดตามข่าวรู้สึกกังวลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเมื่อฟังข้อมูลจากภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐ เชื่อว่าทุกคนกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้หมดแต่ไม่รู้จะไปยังไงต่อ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ตนคิดว่า เรื่องนี้ไปแก้ที่ปลายทาง ไม่ได้หน่วยงานในราชการไทย ยังทำไม่ได้มาก เพราะต้นทางของแหล่งกำเนิด ที่เกิดขึ้นเกิดในประเทศเมียนมา

ต้องหยุดที่ต้นเหตุให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยกลไกการเจรจา ซึ่งการเจรจาเชื่อว่าจะทิ้งประเทศจีนไม่ได้ต้องมีประเทศจีนร่วมด้วย

จากการติดตามข่าวสารและพูดคุยกับพื้นที่ ในเอกสารภาษาอังกฤษหลายฉบับชี้ไปในทิศทางคล้ายกัน ก่อนปี 2560 จีนได้กวาดล้างบริษัททำเหมืองโดยเฉพาะเมืองทองที่ผิดกฎหมายในประเทศจีน

ซึ่งในประเทศจีน กำลังผลักประเทศให้เข้าสู่การรักษาสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูในประเทศ ดังนั้นอะไรที่เป็นโรงงานหรือบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานรีไซเคิล โรงงานเหมืองในประเทศจีน ถูกสั่งปิดหมด

อ่านข่าว : เจาะเหมืองแร่ “ต้นแม่น้ำกก-น้ำสาย” มลพิษข้ามพรมแดน

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า บริษัทจีนที่ถูกกวาดล้างหลายบริษัท เข้าใจว่าส่วนหนึ่งจะย้ายมาที่ไทย ซึ่งตอนนี้เป็นประเด็นมาก ส่วนหนึ่งน่าจะไปทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา ซึ่งพบว่า ตัวเลขที่ทำเหมือนทองมีประมาณ 11 เหมือง

คิดว่าการทำเหมืองไม่น่าจะมีโรงแต่งแร่ น่าจะมีการระเบิดแล้วเปิดหน้าดิน เอาสินแร่ที่เป็นทองอยู่ในดินเอาขึ้นมาก่อน น่าจะมีกองสินแร่กับกองหินทิ้งเป็นปริมาณมาก

เมื่อระเบิดหน้าดินและมีการขุดขึ้นมากลุ่มเพื่อนแร่ในโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนูที่เป็นองค์ประกอบหลักของแร่ธาตุ ในพื้นที่เมื่อดูภาพแล้วและข้อมูลที่ได้มาแทบไม่มีหนทางเลย ที่จะแก้ที่ต้นทาง

ถ้าหยุดต้นทางไม่ได้ คิดว่าเชียงรายน่าจะกลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ ที่อาจจะใหญ่ที่สุดของประเทศก็ได้ รวมถึงพื้นที่แม่สายด้วย

น.ส.เพ็ญโฉม เสนอทางออกแก้ปัญหาว่า จะต้องเร่งเจรจากับเมียนมา ซึ่งจะต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ในการเจรจา เพื่อให้สัมฤทธิ์ผล แต่ปัญหาที่พบตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในความทุกข์เดือดร้อน แต่ประเทศเมียนมา และจีนไม่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

คิดว่าในการเจรจาปากเปล่าและไม่มีข้อมูลไปสนับสนุน หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ จะต้องศึกษาประเมินความเสียหาย อย่างน้อย 3 ด้านหลัก ที่เกิดขึ้น บริเวณ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ของ จ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบ

อันดับแรกคือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ต้องมีการประเมินตัวเลขความเสียหาย เพื่อให้เห็นว่า นับตั้งแต่มีโคลนมาถล่มจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจเสียหายไปเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่แล้ว

สอง คือส่วนความเสียหายทางด้านสุขภาพ ต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะในอนาคต ผลกระทบในเชิงระบบทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะจากสารหนู หรือตะกั่ว ซึ่งถ้าประเมินในเชิงระบาดวิทยา จะสามารถคำนวณตัวเลขความเสียหายด้านสุขภาพได้ระดับหนึ่งในอนาคต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีงบประมาณ เพื่อดูผลกระทบในด้านนี้ด้วย

ส่วนที่สาม ผลกระทบถ้าจะต้องมีการฟื้นฟูสารพิษที่ปนเปื้อน ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น บางพื้นที่การฟื้นฟูแม่น้ำที่ปนเปื้อนจากการทำเหมือนโลหะหนัก ไม่สามารถบรรเทาได้ เนื่องจากใช้งบประมาณมหาศาล เช่นในประเทศญี่ปุ่น แม่น้ำจินซู ใน จ.โทยามะ ที่ปนเปื้อนแคดเมียมทั้งสาย ญี่ปุ่นทิ้งไว้แบบนั้นให้เป็นเรื่องของธรรมชาติไป แต่นาข้าวมีการฟื้นฟู ด้วยการขุดลอกหน้าดิน ไปกำจัดดินที่ปนเปื้อนของเสีย

ส่วนกรณีที่เชียงราย เราไม่รู้ว่าโคลนที่มา มีการปนเปื้อนโลหะหนักอะไรบ้าง หรือมีมากแค่ไหน ถ้ามีการปนเปื้อนที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็เข้าสู่หลักของเสียอันตราย ถ้าเป็นของเสียอันตราย ปริมาณที่มหาศาล อาจจะต้องขุดไปทิ้งไป คำถามคือทิ้งที่ไหน

อ่านข่าว : เปิดผลตรวจแม่น้ำกก ปนเปื้อนสารหนูกว่าเท่าตัว

กรณีเหมืองคลิตี้ จ.กาญจนบุรี กรมควบคุมมลพิษต้องฟื้นฟูว่าจ้างบริษัท มีการขุดลอกตะกอนในลำห้วย ที่มีการปนเปื้อนตะกอนดินที่มีการปนเปื้อนตะกั่วในปริมาณที่สูงมาก เฟสแรกกรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายไปมากถึง 450 ล้านบาท เฟสที่สองอีก 200 ล้านบาท เฉพาะลำห้วย ที่ไม่ได้ใหญ่ปนเปื้อนแบบเชียงราย ก็ใช้งบประมาณไป 600 กว่าล้านบาท

กรณี จ.เชียงราย ที่ปนเปื้อนอาจจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเท่าไหร่ ยังไม่พูดถึงงบประมาณในด้านสุขภาพ

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุถึงการป้องกันสารพิษในไทยและการเฝ้าระวังในระยะยาว เช่น การตรวจวัดตะกอนท้องน้ำ และตรวจคุณภาพน้ำระยะยาว ตอนนี้หน่วยงานราชการมีงบประมาณหรือไม่

แต่พื้นที่ต้องมีการศึกษาและเฝ้าระวังระยะยาว ซึ่งจะต้องตามดูการกระจายตัวของสารพิษเหล่านี้ ในโคลนและน้ำ เช่น การสะสมของสารหนูอย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ซึ่งน่าจะมีการตรวจ

เพื่อให้ชาวเชียงรายสบายใจ ถึงขั้นที่ว่าอาจจะไม่มีผลกระทบชีวิตและความเป็นอยู่ แต่ถ้าอยู่ในระดับสูงต้องประกาศเป็นที่ปนเปื้อนเพื่อความปลอดภัย

ส่วนข้าวหรือพืชอาหารใช้น้ำจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย จะต้องมีการสุ่มตัวอย่างว่า มีการสะสมไปแล้วหรือไม่ เพราะสารหนูที่ตรวจพบ เป็นสารก่อมะเร็งถ้าสัมผัสแบบเรื้อรังจะเป็นอันตราย ตัวอย่าง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช มีอยู่แล้ วซึ่งตอนนี้ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันอยู่ แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 30 ปีแล้วก็ตาม

ส่วนพื้นที่ไม่ได้มีการปนเปื้อน เพราะไม่รู้ว่าเส้นทางน้ำใต้ดินเป็นอย่างไร ทิศทางไปอย่างไร อาจจะต้องมีการสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำบ่อตื้น และน้ำบาดาลบ่อตื้นและชั้นลึกเพื่อดูว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่

ซึ่งการตรวจ เพื่อให้รู้ว่า จะได้เฝ้าระวัง ถ้าไม่มีการปนเปื้อนจะได้ใช้น้ำอย่างสบายใจน้ำตรงนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังเป็นเพียงแค่คำแนะนำ ซึ่งยังไม่ใช่ทางออก

คนที่อยู่แม่น้ำและกินปลาไม่ได้มีความทุกข์มาก และสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจด้วย คนอยู่ใกล้แม่น้ำ เอาน้ำไปใช้การเกษตรไม่ได้เป็นความทุกข์ที่มหาศาลมาก

หน่วยงานรัฐต่างๆ พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ต้องเจรจาระหว่างประเทศ และต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน และความเร่งด่วนต้องมีข้อมูลด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศ เบื้องต้นว่า เฉพาะช่วงที่ผ่านมาภาคเศรษฐกิจของเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษที่เป็นมูลค่าประมาณเท่าไหร่

อ่านข่าว : ด่วน! สคพ.1 ตรวจพบ “สารหนู” แม่น้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

ด้านผู้แทนจากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเหมืองทองในเมียนมา ได้มีการสั่งการให้สถานทูตไทยในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ประสานกับรัฐบาลเมียนมา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทางออกที่เป็นรูปธรรม เพื่อเแก้ปัญหาเหมืองแร่ ขณะที่ในประเทศไทยได้เชิญทูตเมียนมา ประจำกรุงเทพฯ พูดคุยเพื่อแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและผลกระทบในประเทศไทย

ส่วนข้อเสนอการเจรจาในระดับสูงขึ้นไประดับกระทรวงฯ พยายามหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยอยู่แล้ว โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ หรือของรัฐบาล หากมีการพบกับฝ่ายเมียนมาจะนำประเด็นเหมืองแร่และผลกระทบขึ้นมาหารือ

ผู้แทนจากกรมเอเชียตะวันออก ยังเสนอถึงสถานการณ์ในประเทศเมียนมา นอกเหนือจากการดำเนินการทางการทูต หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่สามารถมีบทบาทร่วมในการช่วยการเจรจาได้ เริ่มจากท้องถิ่นถึงระดับกองทัพ

ส่วนกฎหมายควบคุมการทำเหมืองแร่ในเมียนมา มีหรือไม่? ผู้แทนจากกรมเอเชียตะวันออก ระบุขอไปศึกษาในรายละเอียด

รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

อ่านข่าว : พ่อเมืองเชียงรายสั่ง "งดใช้" น้ำกก-น้ำสาย ยังพบ "สารหนู" ปนเปื้อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง