ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แม่น้ำกก" วันนี้เหมือน "คลิตี้" ในวันวาน

Logo Thai PBS
"แม่น้ำกก" วันนี้เหมือน "คลิตี้" ในวันวาน
ผลกระทบจากเหมืองคลิตี้ปัจจุบันยังไม่จบไม่สิ้น จนกระทั่งปัจจุบัน ผมอายุ 30 กว่าแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยผมยังอยู่ในท้องแม่

เสียงสะท้อนของ นายธนกฤต โต้งฟ้า ชาวบ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว หรือเหมืองแค่คลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อหลายปีก่อน

ธนกฤต เล่าว่า ปัญหาเหมืองแร่ สิ่งที่ชาวบ้านจะต้องพิสูจน์ท้าทายมาจากข้อจำกัดด้านภาษาและความรู้ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ก็มีความยากลำบาก ที่จะต้องใช้ชีวิตในแต่ละวัน จากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ชาวบ้านกลับต้องมาพิสูจน์อะไรกับสิ่งที่ชาวบ้านต้องเจอทุกวัน เป็นสิ่งที่ยากมากที่ศาลบอกว่า ชาวบ้านต้องพิสูจน์บริษัทที่กระทำผิด

นายธนกฤตกล่าวว่า ถึงแม้จะมีนักวิชาการ นักกฎหมาย หรือนักกิจกรรมเพื่อสังคม เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านจนสามารถพิสูจน์ได้ โดยต้องมีคนรองรับ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเป็นคนที่มีอำนาจและความเชี่ยวชาญเฉพาะ

กรณีคลิตี้ หาคนรับรองว่ามีตะกั่วยากมาก ๆ จนมีหมอคนหนึ่งรองรับว่า ได้รับสารพิษจากตะกั่ว เมื่อรับรองไปแล้วอนาคตการทำงานก็เสียไปด้วย จึงไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะรับรอง ไม่มีใครกล้ามายืนยันในกระบวนการพิสูจน์

การพิสูจน์ของชาวบ้าน นอกจากจะต้องใช้เวลา ยังต้องใช้เงินและความรู้หลายหลายอย่าง

ส่วนในเรื่องของความรับผิดชอบ กรณีผลกระทบจากเหมืองแร่คลิตี้หาคนรับผิดชอบที่แท้จริงตามกฎหมายไม่ได้ และสุดท้ายการเรียกร้องในเรื่องของสุขภาพของชาวบ้านที่ต้องเผชิญจากพิษสารตะกั่ว จากสารพิษเมื่อ 30 ปี ที่ปล่อยทุกวันไม่มีวันไหนที่หยุด ในช่วงการพิสูจน์ มีการการอ้างเรื่องของฝนตก ทำให้ถังกักเก็บสารพิษแตก ลงไปลำห้วยทั้งที่มีการแต่งแร่ริมน้ำ

ปัญหาเหมืองแร่คลิตี้ ช่วงแรก ๆ ที่ชาวบ้านส่งเสียงไปหลายปี เสียงไม่ถูกสะท้อนออกไปสู่สังคม จนกระทั่งมีสื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าไป เสียงของชาวบ้านจึงค่อยๆ ดังขึ้นมา หน่วยงานต่าง ๆ จึงค่อยค่อยขยับเหมือนไฟลนก้น

นายธนกฤตกล่าวต่อว่า ขณะเรื่องของการฟื้นฟูระยะยาว ตนมองว่าประเทศไทยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการฟื้นฟู อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดต่าง ๆ แต่ไม่มีใครมีความสามารถเฉพาะด้านในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในน้ำและดิน หรือต่อให้มีเครื่องมือ ก็ไม่มีใครสามารถใช้นวัตกรรมที่ฟื้นฟูได้จริง

ปัญหาการฟื้นฟูที่ใช้เวลานาน และมีการใช้งบประมาณสูง กรณีเหมืองแร่คลิตี้ ไม่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ก่อมลพิษได้ มีการฟ้องศาลปกครอง กับหน่วยงานความรับผิดชอบควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นองค์กรรัฐ แม้จะชนะงบประมาณที่ใช้หลายร้อยล้านบาท หรือเป็นพันล้านบาทที่ประเมินไว้ก็เป็นภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายตรงนี้ คนก่อสารพิษล้มละลายและหนีหายไม่รับผิดชอบ

ปัญหาระหว่างการฟื้นฟูก็มีมากไม่เสร็จสิ้น เฟสแรกงบประมาณ 450 ล้านบาท ก็มีเฟสสองและเฟสอื่น ๆ ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูผลกระทบ ที่ชาวบ้านรับมาหลายปี ต้องกลับมารับผลกระทบจากกระบวนการฟื้นฟูอีกครั้ง

นายธนกฤต ย้ำว่า ความท้าทายของแม่น้ำกก มีความซ้ำซ้อนมากกว่า ลำห้วยคลิตี้เพราะเป็นปัญหาข้ามพรมแดน อาจจะต้องมีการทำงานที่หลากหลายขึ้น และปัญหาก็มีความซับซ้อนด้วย

ไม่ว่ารัฐบาล หรือองค์กรภาคประชาสังคมจะต่อสู้แค่ไหน สิ่งที่คนในพื้นที่ประสบภัยคาดหวัง สิ่งแรกที่ต้องคิดถึงคือ ชุมชนให้เขามีชีวิตอยู่ได้ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอย่างนี้ได้อย่างไร

อ่านข่าว : แนะใช้กลไกอาเซียน แก้ปัญหามลพิษเหมืองแร่ข้ามแดน

เปิดภาพ เหมืองแร่ต้นแม่น้ำสาย พื้นที่อิทธิพลกลุ่มว้า

กมธ.ความมั่นคงฯ ลงพื้นที่แม่น้ำกก ดู "มลพิษเหมืองทอง" จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง