" วัดไร่ขิง" หรือ วัดมงคลจินดาราม พระอารามหลวง ในพื้นที่ ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ในช่วงวันหยุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2568 มีประชาชนเดินทางพาครอบครัวมาสักการะไหว้พระที่วัดต่อเนื่อง ทำให้ที่จอดรถบริเวณด้านในตั้งแต่ช่วงสาย ถึงบ่ายเย็น มีรถยนต์จอดเต็มพื้นที่ในโดมจอดรถ และขยายออกไปจอดบริเวณลานของวัดที่ติดกับโรงเรียนวัดไร่ขิง แม้เป็นช่วงสถานการณ์ที่ พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และเป็นอดีตเจ้าคณะภาค 14 ถูกจับในคดียักยอกเงินวัด 300 ล้านบาท จากการพบโอนเข้าบัญชี น.ส.อรัญญาวรรณ ซึ่งพบเชื่อมโยงกับเว็บพนันออนไลน์ ที่ตำรวจขยายผลในขณะนี้

ภายในวัดไร่ขิง นอกจากคนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่มาทำบุญแล้ว ยังมีประชาชนจากหลายครอบครัว เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงนครปฐม มีบางส่วนที่เดินทางมาจากจังหวัดในภาคอื่น

ภายในวัด มีกิจกรรมทางวัดให้ประชาชนทำหลายอย่าง เช่น จุดรับดอกไม้ธูปเทียน ไว้พระ, สวดมนต์ นั่งสมาธิ, ทำบุญ, ปิดทอง, เช่าวัตถุมงคลรุ่นต่าง ๆ , หล่อพระ, ถวายสังฆทาน, ฝังลูกนิมิตร, รับน้ำมนต์หลวงพ่อวัดไร่ขิง, แก้บน, จุดดอกบัวลอยน้ำ ฯลฯ ซึ่งจะมี "ตู้บริจาค" วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่กล่าวมา

และเมื่อดูเฉพาะ "ตู้บริจาค" ทั้งจุดหลักและจุดต่าง ๆ ในวัด พบการตั้งตู้มากกว่า 100 ตู้ ให้เลือกบริจาคได้ตามจิตศรัทธา ตัวตู้ถูกใส่แม่กุญแจล็อกไว้ตู้ทุกตู้
ส่วน "ประเภทตู้บริจาค" ระบุชัดเจนไว้ที่หน้าตู้ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ชัดเจน เช่น ค่าดอกไม้ธูปเทียน, ค่าไฟฟ้า, ภัตตาหารภิกษุสามเณร, แก้บนเป็นเงิน, ซ่อมศาสนสถาน, มูลนิธิสายไทย, หนังสือธรรมทาน, ซ่อมพระอุโบสถ, สมทบทุนเพื่อการศึกษา วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทราวดี, ทะนุบำรุงและส่งเสริมกิจกรรมของคณะสงฆ์ อาคารปฎิบัติธรรม, ตู้ทำบุญเติมตะเกียงน้ำมันแห่งบุญ ฯลฯ

วัดไร่ขิง นับเป็นศาสนสถานที่เปิดต้อนรับทุกคนที่มาเยือน โดยทุกวันนี้ ประชาชนสามารถเข้ามาสวดมนต์ในโบสถ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว และลานจอดรถที่กว้างมาก สะท้อนได้ถึงปริมาณการรองรับจำนวนผู้คนและรถยนต์ที่หลั่งไหลมาที่นี่ ในวันที่เนืองแน่น แต่ไม่ใช่วันนี้

สอบถามกับประชาชนที่เดินทางมาวัดไร่ขิง หลายคนยืนยันว่า การเข้าวัดในช่วงที่วัดเจอกระแสรุมเร้า ไม่ได้ทำให้พวกเขาหมดศรัทธาในตัววัด รวมถึงองค์พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง องค์หลวงพ่อ ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือมาเนิ่นนาน
และเรื่องราวเล่าขานทางประวัติพระพี่น้อง 5 องค์ที่ลอยน้ำในอดีต และเห็นว่าความศรัทธาในการทำบุญ มีจุดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ "ความตั้งใจ" จิตใจที่ตั้งมั่นแต่แรกอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับตัวเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับวัดไร่ขิง บางคนก็เห็นว่า ฝ่ายเกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบการเงินของวัดเพื่อความกระจ่าง อีกทั้งถ้ามองทางธรรม หลายคนยังสะท้อนว่าเรื่องที่เกิดทำให้เห็นคติธรรมเตือนใจในการเลือกทางเดินชีวิตและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และนี่เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของผู้อยู่ในวัดไร่ขิงวันนี้
ไม่ว่าตอนนี้คดีจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ทำให้เราหมดศรัทธาในพระพุทธศาสนา เรื่องที่เกิดยังทำให้มีสติมากขึ้นในการดำรงชีวิต อยู่บนความไม่ประมาท
ชายอาชีพรับราชการ อายุ 45 ปี อ.สามพราน จ.นครปฐมกล่าว
เรานับถือองค์หลวงพ่อในโบสถ์ ไม่ใช่ตัวเจ้าอาวาสหรือยึดติดตัวบุคคล พระธรรมคำสอนทางศาสนา และจิตใจที่มุ่งมั่นต่อการเข้าวัดทำบุญ มันเริ่มต้นดีตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องเป็นใคร
หญิง อาชีพอิสระ อายุ 50 ปี อยู่ใน กทม.แต่ก็ขับรถมาพร้อมครอบครัว และมาวัดไร่ขิงเป็นระยะกล่าว
ประวัติศาสตร์ของวัดมีที่มาเนิ่นนาน เราต่างนับถือองค์พระ คำสอนของพระพุทธเจ้า หลักศีล5 ในการครองตน หรือการทำดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เราศรัทธาที่คำสอนและองค์พระ ไม่ใช่ตัวบุคคล
ชาย อายุ 67 ปี อ.เมือง จ.พิษณุโลก
การทำบุญเป็นความตั้งใจตามปกติอยู่แล้ว เพราะศรัทธาองค์พระ หลวงพ่อวัดไร่ขิงที่อยู่ในโบสถ์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายเกี่ยวข้องต้องตรวจสอบเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
ผู้ค้าหน้าวัดไร่ขิงกล่าว

ด้านหลังโบสถ์ เป็นโซนกุฎิเจ้าอาวาส แยกออกเป็นหลัง เด่น ตกแต่งด้วยภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา รวมถึงการตกแต่งอย่างงดงามโดดเด่นตามรั้วและบันไดทางขึ้น รวมถึงติดตั้งจานดาวเทียมที่ชั้นบน และเป็นโซนที่ตำรวจขยายผลตรวจสอบในขณะนี้เกี่ยวกับเส้นทางการเงิน และพื้นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตู้เซฟในกุฏิ

ถัดไปในละแวกนั้น ยังเป็นพื้นที่ติดกับกุฏิพระสงฆ์รูปอื่นสูง 2 ชั้น, สำนักงานของวัด, ห้องขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งระบบจอเชื่อมโยงกับกล้องวงจรปิดจุดต่าง ๆ ของวัดที่มีเกือบ 100 ตัว

ถัดไปเป็นห้องฝ่ายการเงิน ที่ผู้ผ่านเข้าได้ต้องสแกนนิ้วเข้าไปเท่านั้น ซึ่งภาพรวมวัดแห่งนี้ มีพระสงฆ์รวมประมาณ 40 รูป และมีฆราวาส-ลูกศิษย์ ประมาณ 80 คน ขณะที่พื้นที่เกือบทั้งหมดโซนนี้ปูรองพื้นทางเดินด้วยหญ้าเทียมทั้งหมด
โซนกุฏิวัด ยังพบสุนัขของอดีตเจ้าอาวาส 5 ตัว พันธุ์ซามอย และ บางแก้ว ที่เป็นสีสันให้วัดไร่ขิง มีชื่อ แพนด้า, ส้มโอ, มะปราง, ทองคำ และ สติ มีผู้นำมาถวายให้เลี้ยงตั้งแต่ 3 ปีก่อน โดยเฉพาะแพนด้าและส้มโอ มักเป็นขวัญใจของผู้ที่ผ่านมาบริเวณนี้ เพราะขี้อ้อน น่ารัก และชอบเล่นกับทุกคนที่มาเยือน

ในระหว่งนี้ที่อดีตเจ้าอาวาสโดนจับ กลุ่มสุนัขเหล่านี้ก็จะมีพระสงฆ์รูปอื่นและคนที่วัดช่วยกันเลี้ยง เพราะต่างก็คุ้นเคยกันอยู่แล้ว

เหตุการณ์ที่อดีตเจ้าอาวาสถูกจับและถูกตรวจสอบในขณะนี้ อีกมิติหนึ่งที่สะท้อนได้ชัด คือ "รายได้ที่เข้าวัด" จากพลังเงินที่ผู้คนศรัทธาบริจาคมีเท่าไร และ วัดมีรายได้จากอะไรบ้าง และบริหารจัดการอย่างไรบ้าง ?
ทีมข่าวพูดคุยกับแหล่งข่าวของวัด แต่เจ้าตัวไม่ขอเปิดเผยตัวตน ระบุว่า รายได้ที่หลักที่เข้าสู่วัดมาจาก 4 ช่องทางหลัก คือ
- ตู้บริจาค
- ผู้ศรัทธาบริจาค ผ่านรูปแบบโครงการเฉพาะกิจเพื่อสมทบทุน เข้ามูลนิธิกองทุนวัดไร่ขิง
- รายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดในพื้นที่วัด
- รายได้จากการจัดเก็บค่าประมูลเช่าแผงค้าในงานประจำปีของวัดไร่ขิง ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง
ซึ่งภาพทั้ง 4 ช่องทางหลักวัดจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 80 ล้านบาท และ บางปี มีสูงถึง 100 ล้านบาท

สำหรับส่วนแรก รายได้จากตู้บริจาค แม้ครั้งนี้แหล่งข่าวไม่ได้ระบุชัดว่า มีรายได้เข้าตู้บริจาคแต่ละวัน หรือแต่ละปีมีเท่าไร แต่ที่ทีมข่าวสำรวจ พบมีตู้ภายในวัดกว่า 100 ตู้ ที่ตั้งไว้ให้ประชาชนทำบุญแบบเงินสดได้
ส่วนที่ 2 การบริจาค ผ่านรูปแบบโครงการเฉพาะกิจเพื่อสมทบทุน เข้ามูลนิธิกองทุนวัดไร่ขิง ผู้ที่ประสงค์บริจาคเป็นเงิน (แบบไม่ใช่หย่อนตู้) เงินส่วนนี้จะผ่านเข้าระบบ "มูลนิธิวัดไร่ขิง" ทั้งตั้งจุดไว้ภายในวัดตรงหน้ามูลนิธิแบบจ่ายเงินสด หรือ รูปแบบการสแกนคิวอาร์โค้ด โอนเงินแบบออนไลน์ และถ้าผู้บริจาคต้องการใบกำกับลดหย่อนภาษี ทางวัดก็จะออกใบกำกับภาษีออนไลน์ให้
ถามว่าเงินพวกนี้นำออกไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง ก็ขึ้นกับว่า วัดจะทำโครงการอะไรหรือ มีผู้มาขอให้วัดสนับสนุนโครงการใด ๆ เช่น โรงเรียน หรือ โรงพยาบาล หรือโครงการจัดเช่าวัตถุมงคลของวัด ก็จะพิจารณาผ่านในรูปแบบของคณะกรรมการวัด หรือ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะโครงการที่วัดพิจารณา
โดยที่วัดไร่ขิงมีอยู่ 3 มูลนิธิคือ 1.มูลนิธิหลวงพ่อวัดไร่ขิง 2.มูลนิธิเมตตาประชารักษ์ (เน้นช่วยโรงพยาบาล) และ 3.มูลนิธิด้านการศึกษา ซึ่งมูลนิธิต้องขึ้นทะเบียนกับทางอำเภอ
ที่ผ่านมารายได้ที่เข้าวัดทีรายละเอียดชัดเจนรวมถึงการนำเงินออกจากวัดไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ รพ.เมตตาประชารักษ์, ให้ทุนนักศึกษาแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ไปศึกษาต่อ หรือการนำไปช่วยน้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งจะทำกันเป็นโครงการ ๆ ไป
แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนที่ 3 รายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดในพื้นที่วัด สัปดาห์ละ 2 วัน ที่ผู้เช่าแผงเสียค่าแผงวันละ 40 บาท หรือ 60 บาท ต่อตารางเมตร และค่าไฟต่างหาก โดยรายได้ส่วนนี้ นำเข้าสู่วัดเช่นกัน โดยตลาดนัดวันอาทิตย์ จะเป็นตลาดนัดวันใหญ่ มีประมาณ 700-800 ร้านค้า
ส่วนตลาดนัดที่เล็กมีวันเสาร์, วันอังคาร, วันพฤหัส แต่หลัก ๆ คือวันอาทิตย์ ทางวัดบริหารจัดการเอง เงินที่ได้เข้าสู่ระบบฝ่ายสำนักงานฝ่ายการเงินบัญชีหลักของวัด มีหลักฐานใบเสร็จให้ทุกร้านชัดเจน แยกออกจากเงินที่เข้ามูลนิธิ
ส่วนที่ 4 รายได้จากการจัดเก็บค่าประมูลเช่าแผงค้าในงานประจำปีของวัดไร่ขิง ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งมีค่าเช่าแผงอยู่ที่รายละ 4,000 - 6,000 บาท มีผู้ค้าประมาณ 150-200 ราย ซึ่งเข้าสู่ระบบการเงินของวัด
"วัดไม่ได้เงินงบประมาณประจำปีจากรัฐ ถ้าต้องการงบสนับสนุนต้องทำโครงการเสนอสำนักพุทธ กรมศาสนา ซึ่ง แต่ทำให้วัดต้องจัดการตัวเองเพื่อหารายได้เข้าวัด โดยค่าน้ำเราใช้ระบบน้ำบาดาล ไม่เสียค่าน้ำ แต่ค่าไฟเสียเดือนละ 800,000 - 1,000,000 บาท โดยที่ผ่านมา โรงเรียนวัดไร่ขิงและวัด ถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนา ที่มีหน่วยงานต่างๆ หรือโรงเรียนต่างๆ มาขอใช้สถานที่จัดกิจกรรม รวมถึง การเป็นสถานที่จัดหน่วยเลือกตั้งเป็นต้น ซึ่งส่วนนี้วัดต้องใช้เงินบริจาคมาบริหารจัดการด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนด้านคดีขณะนี้ทางวัดมอบหลักฐานทุกอย่างไว้เจ้าหน้าที่ไปแล้ว ส่วนบุคคลที่เป็นหญิงสาว ปรากฏเป็นข่าวกับอดีตเจ้าอาวาส ทางพระที่วัดแห่งนี้เคยพบเห็นมาที่วัดบ้าง เป็นคนที่มาทำบุญเข้าวัด แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเงินของวัด
การลงพื้นที่วัดไร่ขิง เมื่อ 16 พ.ค.2568 ที่นำทีมโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม พร้อมพร้อมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ขอหมายศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางออกหมายจับ พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม และเป็นเจ้าคณะภาค 14 ด้วย รวมถึงเข้าตรวจค้นวัดไร่ขิง เพื่อหาหลักฐานเกี่ยวข้องกับคดี
ยังคงต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดกับความเกี่ยวข้องของอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และการบริหารจัดการพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดไร่ขิง ที่มีขนาดพื้นที่เฉพาะโซนวัด 80 ไร่ และการใช้ดินวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียน, โรงพยาบาล และหน่วยงานราชการอีกร่วม 30 หน่วยงาน รวมขนาดพื้นที่วัดในส่วนนี้ด้วยแล้วมีพื้นที่อีกประมาณ 500 ไร่

การลงพื้นที่ทำข่าวครั้งนี้ กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ขอนำพุทธศาสนสุภาษิต ที่ติดเป็นป้ายขนาดใหญ่ไว้บริเวณทางเข้าวัดไร่ขิงมาคติธรรมเตือนใจทุกคน
"...วิสสฏเฐปิ น วิสเสส : แม้ในคนคุ้นเคยก็ไม่ควรไว้ใจ.."
รายงาน : ภัทราพร ตั๊นงาม
ภาพ : ภัทราพร ตั๊นงาม, วัฒนา อมิธิดาจรูญ
อ่านข่าวอื่น :
ศาลไม่ให้ประกันตัว "อดีตพระมหาเอกพจน์" นำตัวคุมตัวขังเรือนจำฯ
“สมณศักดิ์” เกี่ยวกับ “พระสังฆาธิการ” อย่างไร ทำไม “เจ้าคุณแย้ม” จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ?