อินเดีย และปากีสถาน 2 ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดในเอเชียใต้ที่มีแนวรั้วชายแดนเดียวกัน แต่กลับมีรอยร้าวแห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีตั้งแต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรพร้อมกันเมื่อปี 2490 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างสูงไว้ในครอบครองในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน คือราว 170 vs 170
ภูมิภาคแคชเมียร์ ดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ธรรมชาติรังสรรค์ความงดงามของทะเลสาบ ทุ่งดอกไม้ และเทือกเขาสูงตระหง่านที่มีหิมะปกคลุมชวนมอง ชวนเล่นสกีน้ำแข็งในฤดูหนาวเป็นของขวัญ อีกทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของ 2 กลุ่มชาติพันธุ์หลักต่างศาสนา ได้แก่ ชนชาวฮินดู และชนชาวมุสลิม คือ ต้นเหตุแห่งรอยร้าวทวิภาคีมาเนิ่นนาน


อันที่จริง ภายใต้กฎหมายมอบเอกราชแก่อินเดียของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีแผนการแบ่งสรรอธิปไตยแห่งดินแดนเป็น 2 ประเทศเอกราชใหม่ระหว่างอินเดียกับปากีสถานรวมอยู่ด้วย กำหนดให้ชนชาวมุสลิมที่ตั้งรกรากในแคชเมียร์มากกว่าชนชาวฮินดูในสัดส่วนราว 60:40 เลือกที่จะอยู่ภายใต้อินเดีย หรือปากีสถานได้อย่างอิสระ

แต่พระมหาราชาฮารี ซิงห์ (Hari Singh) เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์ในยุคนั้น ทรงตัดสินพระทัยให้แคว้นแคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อเดือน ต.ค. 2490 ราว 2 เดือนหลังจากอินเดีย และปากีสถานได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเพื่อแลกกับการคุ้มครองจากอินเดียจากการถูกกลุ่มนักรบชนเผ่าจากปากีสถานรุกราน

ข้อมุลที่เผยแพร่โดยบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งสหราชอาณาจักร หรือ BBC วันที่ 7 พ.ค. ระบุว่า แต่เดิม พระมหาราชาฮารี ซิงห์ มีพระประสงค์จะให้แคชเมียร์มีอธิปไตยแห่งดินแดนในฐานะแคว้นเอกราช การตัดสินพระทัยให้แคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย จึงจุดชนวนการแย่งชิงจากฝ่ายปากีสถานอย่างชัดเจนขึ้น

เหตุผลหนึ่งเนื่องจาก ผู้ตั้งรกรากในแคชเมียร์ส่วนใหญ่เป็นชนชาวมุสลิมเช่นเดียวกับประชากรส่วนใหญ่ในปากีสถาน ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในอินเดียเป็นชนชาวฮินดู และมีผู้คนในแคชเมียร์เป็นจำนวนมากประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานมากกว่า

ศึกครั้งแรกระหว่างอินเดียกับปากีสถานจึงเริ่มขึ้นในช่วงนั้น และแผนจัดการลงประชามติในเวลาต่อจากนั้นไม่นานเพื่อชี้ว่า ชาวแคชเมียร์ประสงค์จะอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย หรือปากีสถานตามข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ล้มเหลว เนื่องจากอินเดีย และปากีสถานไม่อาจบรรลุข้อตกลงว่าด้วยเขตปลอดทหารก่อนการลงประชามติ
อย่างไรก็ดี อินเดีย และปากีสถานต่างตกลงร่วมลงนามในข้อตกลงกำหนดเขตหยุดยิงตามการไกล่เกลี่ยของ UN ได้ในที่สุดเมื่อเดือน ก.ค. 2492 ส่งผลให้ภูมิภาคแคชเมียร์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งอยู่ในการปกครองของอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในการปกครองของปากีสถาน

แต่กระนั้น ศึกอินเดีย-ปากีสถานครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ก็ปะทุขึ้นเมื่อปี 2508 และ 2542 โดยครั้งที่ 3 เป็นการสู้รบช่วงสั้น ๆ ระหว่างอินเดียกับกองกำลังติดอาวุธที่มีทางการปากีสถานหนุนหลัง นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศยังต่างพัฒนา และต่างประกาศมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองในช่วงเวลาใกล้เคียงกับศึกครั้งที่ 3 ด้วย

นอกจากศึก 3 ครั้งดังกล่าวแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมจาก BBC และเว็บไซต์ Vox ของสหรัฐฯ ลงวันที่ 1 พ.ค. 2568 ระบุว่า อินเดียยังเผชิญกับการโจมตีเนือง ๆ จากกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่ต่อต้านอินเดีย และสนับสนุนปากีสถานในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ในการปกครองของอินเดียด้วยตั้งแต่แต่ปี 2532 แต่ทางการปากีสถานปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่มีส่วนรู้เห็น
อินเดียประกาศยกเลิกสถานะกึ่งปกครองตนเองของดินแดนแคชเมียร์ส่วนของอินเดีย และให้เข้าอยู่ในการปกครองของรัฐบาลอินเดียอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2562 ภายหลังทหารอินเดียถูกสังหาร 19 คนเมื่อปี 2559 และตำรวจอินเดียสังเวยชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตายอีกกว่า 40 คนเมื่อปี 2562 จากฝีมือลุ่มต่อต้านอินเดียติดอาวุธ

ล่าสุด ความขัดแย้ง และความตึงเครียดขมึงเกลียวรุนแรงระหว่างอินเดียกับปากีสถานเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 หลังจากเกิดเหตุกลุ่มมือปืนโจมตีเมืองปาฮาลกัม (Pahalgam) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนามว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” ในดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย คร่าชีวิตชาวอินเดีย 26 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวฮินดู

แนวร่วมต่อต้าน หรือ TRF (The Resistance Front) ซึ่งมีรายงานคาดการณ์ว่า เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธลัชกาเรตัยบา (Lashkar-e-Taiba) ในปากีสถานได้ออกแถลงการณ์อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีดังกล่าว แต่ทางการปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหาของอินเดียว่า อยู่เบื้องหลัง
อินเดียประกาศจะไล่ล่าจนกว่าจะควบคุมตัวกลุ่มมือปืนได้ในที่สุด พร้อมทั้งระงับความร่วมมือด้านชลประทาน และการแบ่งปันน้ำระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ภายใต้สนธิสัญญา Indus Waters Treaty อีกทั้งปิดพรมแดนหลักที่เชื่อมการติดต่อภาคพื้นดินกับปากีสถาน

ฝ่ายปากีสถานตอบโต้ด้วยการระงับโครงการความร่วมมือด้านชลประทานกับอินเดียเช่นกัน ประกาศปิดพรมแดนวากาห์ (Wagah) ด้านที่ติดกับอินเดียภายใน 30 เม.ย. 2568 สั่งขับพลเรือนอินเดียทั้งหมดออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมง และระงับวีซ่าของชาวอินเดียภายใต้โครงการความร่วมมือของสมาคมกลุ่มชาติเอเชียใต้ หรือ SAARC

เมื่อรอยร้าวเริ่มแรกกลายสภาพเป็นความแตกหัก อินเดียเปิดฉากโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธต่อเป้าหมายในปากีสถาน ลึกเข้าไปในดินแดนปากีสถานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการซินดอร์” (Operation Sindoor) เมื่อคืนวันอังคาร (6 พ.ค.) คร่าชีวิตผู้คนแล้วอย่างน้อย 8 คน

ทางการปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้าเป็นการชั่วคราวเหนือเมืองลาฮอร์ในแคว้นปัญจาบ และเมืองการาจีในแคว้นสินธ์ทางตอนเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และประกาศจะตอบโต้การโจมตีของอินเดียอย่างสาสม ก่อนหน้านี้ทหารฝ่ายอินเดีย และปากีสถานได้ปะทะกันตามแนวชายแดนเป็นระยะ ๆ
นักวิเคราะห์เตือนว่า ความร้าวฉานของอินเดีย-ปากีสถานล่าสุดนี้สุ่มเสี่ยงมากที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็นไฟสงครามเต็มรูปแบบในเอเชียใต้จากการตอบโต้ไปมา ซึ่งต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ นักวิเคราะห์เตือนด้วยว่า ถ้าศึกอินเดีย-ปากีสถาน บานปลายจะสร้างความทุกข์ยากลำบากแก่ผู้คนทั้ง 2 ประเทศอย่างมหันต์

อีกทั้งผู้คนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย และประชาคมโลกด้วย ถึงแม้ทั้ง 2 ประเทศจะไม่ได้นำอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในครอบครองออกใช้ก็ตาม แต่ถ้ามีการห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ถึงแม้จะอยู่ในวงจำกัด นักวิเคราะห์ชี้ว่า จะคร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน
อินเดียเคยประกาศจุดยืนไม่เป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน ส่วนปากีสถานไม่เคยให้คำมั่นใด ๆ แต่ประกาศล่าสุดในสัปดาห์นี้ว่า ปากีสถานจะพิจารณานำอาวุธนิวเคลียร์ออกใช้ ถ้ามีภัยคุกคามโดยตรงต่อการธำรงอยู่ของปากีสถานทางด้าน รมว.การต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอแถลงว่า เขามีแผนการจะพูดคุยกับผู้นำฝ่ายอินเดีย และปากีสถาน
ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และประชาคมโลกต่างรอลุ้นว่า สหรัฐฯ จะจริงจังในการไกล่เกลี่ยให้ไฟสงครามครั้งล่าสุดในเอเชียใต้สงบลงได้หรือไม่ ท่ามกลางการเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบเพิ่ม นอกเหนือจากศึกรัสเซีย-ยูเครน ศึกอิสราเอล-กลุ่มฮามาส อีกทั้งศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน และพันธมิตรของแต่ละฝ่ายที่ส่อเค้ากรุ่น ๆ ในขณะนี้
ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke