พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเรื่องแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น ด้วยการดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด โดยจะให้มีบริษัทเข้าไปรับซื้อยางเพื่อนำไปแปรรูป และให้หน่วยงานของรัฐไปจัดซื้อ นำมาใช้ในโครงการต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ยางดีขึ้นได้ในระยะสั้น ควบคู่กับการลดปริมาณยางในตลาด ทั้งการหยุดกรีดยางสำหรับสวนยางของรัฐ และโค่นยางทิ้งสำหรับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ ส่วนเกษตรกรรายย่อยจะหามาตรการช่วยเหลืออีกครั้ง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้ง 3 มาตรการจะช่วยพยุงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ไม่ให้เกษตรกรขาดทุน สำหรับมาตรการแรก ขอให้ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับปริมาณความต้องการใช้ยางพารา จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 70,000-80,000 ตัน ซึ่งยังเป็นปริมาณที่น้อยเกินไป ส่วนมาตรการที่ 2 คือชดเชยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราไม่เกินร้อยละ 3 โดยเตรียมวงเงินไว้ 20,000 ล้านบาท เพื่อดูดซับผลผลิตออกจากท้องตลาดได้ประมาณ 350,000 ตัน
ส่วนมาตรการที่ 3 ลดการกรีดน้ำยางในพื้นที่ส่วนราชการทั้งหมด 120,000 ไร่ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค.2561 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณได้ราว 5,000 ตัน และเชิญชวนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางลงแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 400 บาท แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 ไร่ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะนำทั้ง 3 มาตรการเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กยท.และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติพิจารณาและอนุมัติ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า
ขณะที่ วันนี้ (13 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ก่อนไปประชุม ครม.สัญจรที่จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 25-26 ธ.ค.นี้ โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ลดงบประมาณการจัดเลี้ยงต้อนรับให้มากที่สุด และให้เปลี่ยนการจัดบูธสาธิต มาเป็นการพูดคุยแก้ปัญหากับผู้เกี่ยวข้องแทน
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะเปิดรับฟังข้อมูลหลังมีรายงานว่าจะมีชาวบ้านมายื่นเรื่องโครงการแก่งเสือเต้น แต่ขอให้สังคมเปิดรับฟังข้อมูล หากไม่ใช้แนวทางนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ที่ยั่งยืนและเป็นจุดที่ลงตัวของทุกฝ่าย เพราะแต่ละปีต้องเสียงบประมาณเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลายหมื่นล้าน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: