ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ภราดร" ยันจำเป็นต้องทำ "ห้องประชุม" เพิ่มในสภาฯ เห็นด้วยที่ปชช.สนใจเรื่องงบฯ

การเมือง
6 พ.ค. 68
15:39
7
Logo Thai PBS
"ภราดร" ยันจำเป็นต้องทำ "ห้องประชุม" เพิ่มในสภาฯ เห็นด้วยที่ปชช.สนใจเรื่องงบฯ
“ภราดร” แจง สภาฯ ของบฯ ทำห้องประชุม 1,500 ที่นั่ง มีความจำเป็น ช่วยประหยัดงบฯ กมธ.เช่าโรงแรมจัดสัมมนา เห็นด้วยกับฝ่ายค้านที่มองว่า “พิพิธภัณฑ์รัฐสภา” เป็นสุสาน ลั่นจึงต้องเร่งปรับปรุงทำให้มีชีวิต-ประชาชนใช้ประโยชน์ได้จริง ยืนยันใช้งบประมาณคุ้มค่า

วันนี้ (6 พ.ค.2568) นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อวิจารณ์หลัง สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร การของบประมาณ ปี 2569 ในการปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐสภาหลายรายการ มูลค่าเกือบ 1,200 ล้านบาท ว่า ขอชี้แจงเฉพาะส่วนที่ตนรับผิดชอบ มี 3 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงห้องสมุด โครงการปรับปรุง พิพิธภัณฑ์รัฐสภา งบประมาณ 120 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงระบบเสียงห้องประชุมจำนวน 1,500 ที่นั่งงบประมาณ 99 ล้านบาท โดยยืนยัน ทุกการใช้งบประมาณจะคุ้มค่ากับเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และจะกำกับดูแลทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์รัฐสภา มีความตั้งใจที่จะทำให้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของอาคารรัฐสภา และให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า มีความจำเป็น เพราะขณะนี้ มีพื้นที่ว่างไว้จัดทำแล้ว 5,000 - 6,000 ตารางเมตร

ส่วนที่ฝ่ายค้านนิยามว่า “ห้องพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงสุสานที่อยู่ใต้อาคารรัฐสภา” นั้น นายภราดร กล่าวว่า เห็นด้วย เพราะหลังจากรับมอบอาคารมา เมื่อกลางปี 2567 พื้นที่ดังกล่าวก็เป็นเพียงห้องเปล่า ที่ไม่สามารถใช้งานได้ จึงสั่งการให้ฝ่ายที่รับผิดชอบเร่งออกแบบให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต และประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้จริง ส่วนตัวก็ไม่อยากเห็นสุสานใต้สภาเช่นกัน

ส่วนห้องประชุม 1,500 ที่นั่ง ที่ชั้น B 2 นายภราดร กล่าวว่า มีความตั้งใจจะจัดทำเป็นห้องอบรมสัมมนา สำหรับกรรมาธิการทุกคณะ ของทั้ง 2 สภา ซึ่งเป็นแผนเดิม ที่ต้องมีตั้งแต่ก่อสร้างรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงมีความจำเป็นต้องของบประมาณ มาจัดทำให้แล้วเสร็จ ดีกว่าปล่อยให้เป็นห้องร้าง ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายของกรรมาธิการด้วย

ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการ จะต้องเสียเงินไปเช่าพื้นที่โรงแรมในการจัดอบรมสัมมนา ซึ่งงบประมาณที่จะใช้จัดทำ ก็ปรับลดลงมาเหลือ 99 ล้านบาทแล้ว จากเดิมสำนักประชาสัมพันธ์เสนอของบมาที่ 160-170 ล้านบาท

นายภราดรกล่าวต่อว่า ทุกโครงการที่ของบประมาณไปนั้น เป็นเพียงแค่ร่างงบประมาณปี 2569 เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุด เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1 สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีทั้ง สส. และบุคคลภายนอกเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาลงลึกในรายละเอียด หากเห็นว่าในโครงการหนึ่งโครงการใด ไม่คุ้มค่า ก็มีสิทธิ์ที่จะปรับลดงบประมาณในทุกโครงการ จึงขอเรียนให้ประชาชนสบายใจ ว่า การของบประมาณยังไม่เสร็จสิ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดอาคารรัฐสภาที่เพิ่งก่อสร้างได้เพียงประมาณ 5 ปี จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง หรือเป็นเพราะแบบที่ก่อสร้างมานั้น ยังไม่แล้วเสร็จ แต่มีการส่งมอบงานกันแล้ว

นายภราดร กล่าวว่า เมื่อเราใช้งานมาระยะหนึ่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ยังมีพื้นที่ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น และมีบางส่วนที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เช่น ห้องประชุมสัมมนา 1500 ที่นั่ง มีแผนแต่มีแผนแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่เตรียมสถานที่เอาไว้สำหรับดำเนินการในเฟส 2 และเฟส 3 ต่อไป

เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ออกไป ทำให้รัฐสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์ นายภราดรบอกว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนตื่นรู้กับการใช้จ่ายเงินงบประมาณของทุกหน่วยงานราชการ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องยิ่งตระหนัก ว่า งบประมาณทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีของประชาชน

เมื่อถามว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการรับประกันการก่อสร้างอาคารรัฐสภา เหตุใดจึงไม่ให้ผู้รับเหมาปรับปรุง หรือซ่อมในส่วนที่เสียหาย นายภราดรกล่าวว่า งบประมาณที่ขอไปไม่ใช่งบซ่อมสร้าง แต่เป็นงบต่อเติม เพราะยังมีส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และต้องทำในเฟส 2 - 3 โดยการก่อสร้างเป็นเพียงการเตรียมพื้นที่เอาไว้ เพื่อที่จะรองรับการดำเนินการในอนาคต

อ่านข่าว : อาคารราชการทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ "ใคร" ต้องรับผิดชอบ ?

“ทวี” ยันรัฐบาลมุ่งแก้ไฟใต้ ยึดการพูดคุยสันติสุข เพื่อความปลอดภัยประชาชน

แข่งขันดุเดือด 2 ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง