นายสืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า การพบแรร์เอิร์ธครั้งนี้ ไม่เกินความคาดหมาย เพราะดูในภาพรวม ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุหลากหลายชนิด และมีการสัมปทานในหลายพื้นที่ไม่เฉพาะในเขตรัฐฉานตะวันออก ที่ติดกับชายแดนไทยเท่านั้น ยังมีการทำแร่อย่างกว้างขวาง เช่น รัฐคะฉิ่น ติดทางจีน ก็มีการทำเหมืองแร่
นายสืบสกุลกล่าวว่า หน่วยงานรัฐของประเทศไทย ก็ยังไม่รู้ว่า มีเหมืองแร่ชนิดไหนบ้าง มีกี่แห่งกระบวนการผลิตมีลักษณะอย่างไร ที่สำคัญห่วงโซ่แร่ มีการส่งออกไปที่ไหนบ้าง ยังเป็นจุดอ่อนของทางการไทยที่ยังไม่สามารถทราบได้
ถ้ามีข้อมูลที่ระบุได้ว่า ในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย มีการปนเปื้อนจากการทำเหมืองแร่ชนิดใดบ้าง ใครเป็นผู้สัมปทาน ชาติอะไร และเส้นทางเดินทางของแร่จากเมียนมาผ่านไทยหรือไม่หรือไปประเทศอื่น หรือเดินทางจากเมียนมาไปประเทศอื่นเลย ถ้าทางการไทยรู้ห่วงโซ่แร่ทั้งหมด ภาครัฐจะมีข้อมูลไปเจรจาระหว่างประเทศได้ แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ไม่มี
หน่วยงานรัฐไทยไม่สนใจข้อมูล "แรร์เอิร์ธ"
นายสืบสกุล กล่าวว่า ตอนนั้นไม่ได้ชี้ชัดว่า แม่น้ำกก มีแรร์เอิร์ธ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ครั้งนี้ ค่อนข้างจะชัดเจนว่า มีแรร์เอิร์ธ ประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะในระดับนโยบาย จะต้องเร่งติดตามและตรวจสอบจุดที่เหมืองแร่ตั้งอยู่
ส่วนสถานการติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำ ที่มีสารโลหะหนักประมาณ 10 ชนิด ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ที่ 1 เชียงใหม่ ก็ต้องตรวจสอบควบคู่กัน เมื่อพบแรร์เอิร์ธจะต้องมีการมอนิเตอร์มากขึ้นและถี่ขึ้นด้วย
ผู้สื่อถามถามว่า หลังพบการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ ต้นแม่น้ำกกในเมียนมา สถานการณ์จะมีความซับซ้อนมากขึ้นหรือไม่ นายสืบสกุลกล่าวว่า ตนยังมองว่า น่าจะทำให้เห็นผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เห็นความชัดเจนปัญหามากขึ้น เพราะหากดูสถิติการนำเข้าแรร์เอิร์ธ หรือแร่หายากนำไปใช้ มากที่สุด คือประเทศจีน เป็นประเทศใหญ่อันดับหนึ่ง ในอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ธ
หากพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มาสัมปทานจะทำโดยมีมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐาน หรือทำโดยกลุ่มใดก็ตาม สุดท้ายแร่จะส่งไปที่ประเทศจีน จะทำให้ประเทศไทยได้ตรวจสอบเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
ส่วนภาคประชาชนใน จ.เชียงราย มองว่า การทำเหมืองครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้อง คือ เมียนมาที่เป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานเหมือง กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มว้า และประเทศจีน ทั้งที่เป็นเอกชนและรัฐบาล
ถ้ารู้ชัดว่า ประเทศจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง กับการทำแร่หายากในต้นน้ำกก จะทำให้มีข้อมูลหลักฐานไปประสานงานกับทางการจีนง่ายขึ้น
นายสืบสกุลกล่าวอีกว่า สถานการณ์มลพิษจากเหมืองแร่ ในรัฐฉานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแร่ทองคำ หรือแรร์เอิร์ธ ตอนนี้มองว่าหนักแล้ว การทำเหมืองทั้งหมด มีสารโลหะหนักที่เป็นพิษสะสมอยู่ในน้ำแล้ว ถ้าไม่แก้ปัญหาสารโลหะหนัก ที่เป็นพิษจากอุตสาหกรรมเมืองแร่เหล่านี้ จะเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร ผ่านสัตว์น้ำ หรือสะสมในดินของพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พืช หรือจะเข้าไปสู่ระบบน้ำประปา ในคนลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำสายสุดท้ายก็จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง
สารโลหะหนักเป็นสารที่สะสม จะส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมถึงส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวในพื้นที่ จ.เชียงราย
อ่านข่าว :