วันนี้ (19 พ.ค.2568) เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ชี้แจงสาเหตุการตายของ "เลียงผา" ที่ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2568 ได้รับการประสานจากคลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ทำการรักษาเลียงผาที่ได้รับบาดเจ็บ ขอรีเฟอร์เลียงผาไปรักษาต่อที่ รพ.สัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อให้เลียงผาได้รับการตรวจวินิจฉัยร่างกาย
หลังจากได้รับการประสาน น.ส.ฐิติรัตน์ ต๊ะวันวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้มอบหมายผู้เกี่ยวข้องเพื่อไปรับเลียงผาจากกรมอุทยานฯ ทันที และสั่งการให้จัดเตรียมอาคาร Quarantine เพื่อเป็นสถานที่ดูแลรักษาเลียงผาชั่วคราว โดยให้ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าสู่ในพื้นที่ของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และให้ทีมสัตวแพทย์เตรียมพร้อมในการดูแลรักษา เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
น.สพ.รักษ์ศิริ น้อมศิริ หัวหน้ากลุ่มงานสัตวแพทย์อนุรักษ์และวิจัย เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมาย ได้ประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องและรีบเดินทางไปยังคลินิกสัตว์ป่าฯ เพื่อประเมินสถานการณ์ จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น พบว่าเลียงผามีสภาพอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด ทีมสัตวแพทย์จากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ร่วมกับสัตวแพทย์จากคลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้ทำการวางยาสลบเพื่อเคลื่อนย้ายเลียงผาจากคลินิกสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ มายังโรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีทันที

ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามหลักวิชาการทางการรักษา เมื่อถึงโรงพยาบาลฯ ทีมสัตวแพทย์จากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ทำการตรวจร่างกายเลียงผาโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือในการรักษา พบว่ามีลักษณะบาดแผลติดเชื้อ มีหนอนแมลงวันจำนวนหลายแผล โดยพบบาดแผลในตำแหน่งกล้ามเนื้อต้นขาหลังทั้ง 2 ข้าง และพบบาดแผลบริเวณช่องท้องจำนวน 1 แผล ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อแต่ไม่ทะลุถึงช่องท้อง จึงได้ทำการล้าง ทำความสะอาดแผล จากการถ่ายภาพรังสีไม่พบวัตถุแปลกปลอมภายในบาดแผล ตามลำตัวพบเห็บจำนวนมาก และตรวจไม่พบไมโครชิป
เบื้องต้นสัตวแพทย์ได้ทำการเจาะเก็บเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ และทำการรักษาด้วยการให้สารน้ำ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยากำจัดพยาธิภายนอก และวิตามินให้แก่เลียงผาแล้ว ทั้งนี้ อาการของเลียงผายังคงทรงตัว และยังคงต้องทำการติดตามอาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการติดเชื้อจากบาดแผล ภาวะไตวายที่อาจเกิดได้จากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ และจากการติดตามอาการป่วยอย่างใกล้ชิด

ในช่วงค่ำของวันที่ 15 พ.ค.2568 พบว่าเลียงผามีความพยายามจะลุกเดินมากินน้ำ และค่อย ๆ มีอาการอ่อนแรงลงอย่างช้า ๆ และเสียชีวิตในช่วงเวลา 05.00-06.00 น. ของวันที่ 16 พ.ค.2568
สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ส่งซากเลียงผาไปชันสูตรยังห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจากการผ่าชันสูตรพบการอักเสบของบาดแผล มีการติดเชื้อในกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อขาตาย มีการอักเสบของปอด ไต และพบภาวะมีลมในชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous emphysema) ใต้ผิวหนังรอบบริเวณลำตัวช่วงบน ไม่พบการฉีกขาดของช่องอกและไม่พบการหักของกระดูกซี่โครง
โดยผลการชันสูตรเบื้องต้นสันนิษฐานว่าสัตว์เสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Capture myopathy) ร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ทั้งนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและอวัยวะภายในส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันผลการชันสูตรอย่างละเอียดต่อไป

อ่านข่าวอื่น : ขสป.เชียงดาว ส่ง "เลียงผา" ถูกพรานยิงตกเขา ไปรักษาที่คลินิกสัตว์ป่าในเชียงใหม่แล้ว