วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 จะมีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และ นายกเทศมนตรี เปิดคูหาให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. มาหาคำตอบกันทำไม "การเลือกตั้งเทศบาล" จึงสำคัญ แล้วโครงสร้างการบริหารของเทศบาลมีหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรา
นั่นเพราะเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากกว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งดูแลทั้งจังหวัด ด้วยขอบเขตพื้นที่ที่เล็กกว่า เทศบาลจึงสามารถจัดการและดูแลชุมชนได้อย่างทั่วถึงและตรงจุด เช่น ซ่อมถนน จัดการขยะ หรือพัฒนาโรงเรียนท้องถิ่น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเลือกผู้นำและตัวแทนที่สะท้อนความต้องการของชุมชน
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(ณ วันที่ 28 มี.ค.68) ประเทศไทยมีเทศบาลทั้งหมด 2,472 แห่ง
- เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
- เทศบาลเมือง 195 แห่ง
- เทศบาลนคร 30 แห่ง
การเลือกตั้งเทศบาลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 จะครอบคลุมเทศบาลส่วนใหญ่ทั่วประเทศ เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 27 มีนาคม 2568
การเลือกตั้งเทศบาลไม่มีชื่อ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมอยู่ด้วย เนื่องจาก กรุงเทพมหานคร มีสถานะพิเศษและไม่ได้จัดอยู่ในประเภท "เทศบาล" ตามโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเป็น "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ"
กทม. มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีบทบาทคล้ายนายกเทศมนตรีและสภาเทศบาล แต่บริหารงานในระดับที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าครอบคลุมทั้งเมืองหลวง
รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น มี 2 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบทั่วไป ประกอบด้วย
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
- เทศบาล
- องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
2. รูปแบบพิเศษ ประกอบด้วย
- กรุงเทพมหานคร
- เมืองพัทยา
ข้อมูลทางการปกครองทั่วประเทศ (ณ วันที่ 31 ธ.ค.67) จำนวนประชากรไทยทั่วราชอาณาจักร 65,932,105 คน ข้อมูล การปกครองส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,141 หมู่บ้าน
ข้อมูล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด เทศบาล (นคร,เมือง,ตำบล) 2,472 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,299 แห่ง ขณะที่ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
จะรู้ได้อย่างไร เราบ้านเราอยู่ในเทศบาล ประเภทไหน
"เทศบาล" เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตชุมชนเมือง เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาลให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้นเป็นเทศบาล ใช้จำนวนประชากรและการจัดเก็บรายได้เป็นตัวชี้วัด ปัจจุบันเทศบาลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
- เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง
- เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร
จำนวน นายกเทศมนตรี - สมาชิกสภาเทศบาล
นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยมีที่มาดังนี้ จำนวนสมาชิกสภาเทศบาล แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- เทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนครได้ เขตละ 6 คน รวม 24 คน
- เทศบาลเมือง มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมืองได้ เขตละ 6 คน รวม 18 คน
- เทศบาลตำบล มี 2 มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้ เขตละ 6 คน รวม 12 คน
เทศบาลทุกประเภทจะมี "นายกเทศมนตรี" ได้เทศบาลละ 1 คน
ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ "เทศบาล"
- ก่อสร้างซ่อมแซมถนนหนทาง ระบบขนส่งต่างๆ
- จัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
- การจัดการศึกษา
- การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
- การจัดให้มีและบํารุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
โครงสร้างการบริหารงานของ "เทศบาล"

การเข้าใจโครงสร้างการบริหาร "เทศบาล" สำคัญมากเพราะประชาชนจะได้รู้ว่า ใครมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องใดและควรเรียกร้องหรือตรวจสอบอย่างไร และที่สำคัญคือเรามีสิทธิเลือกคนที่จะมาเป็นผู้บริหารพื้นที่ของเรานั้นเอง เทศบาล มีโครงสร้างหลัก 2 ส่วน คือ
1. ฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ บริหารงานและลงมือทำ ประกอบด้วย
- นายกเทศมนตรี หัวหน้าฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรง มีวาระ 4 ปี
- รองนายกฯ และ เลขานุการฯ แต่งตั้งโดยนายกเทศมนตรี ทำหน้าที่ช่วยดูแลงานตามที่ได้รับมอบหมาย
2. ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาเทศบาล) ทำหน้าที่ ออกกฎหมายท้องถิ่น-ควบคุมตรวจสอบ ประกอบด้วย
- สมาชิกสภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน วาระ 4 ปี
ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายไว้ว่า ก่อนปี 2543 เทศบาลในประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารเพียงแบบเดียว คือ "รูปแบบคณะเทศมนตรี" นายกเทศมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากสมาชิกสภาเทศบาลเลือกกันเอง
แต่ภายหลังปี 2543 กฎหมายได้เปิดโอกาสให้เทศบาลมีรูปแบบเพิ่มขึ้นได้อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ "เทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรี" ต่อมาในปลายปี 2546 มีการแก้ไขกฎหมายเทศบาลอีกครั้ง เป็นผลให้เทศบาลคงเหลือเพียงรูปแบบเดียว คือ เทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรี หรือ นายกเทศมนตรี มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเป็นจุดสิ้นสุดเทศบาลในรูปแบบ คณะเทศมนตรี
โครงสร้างของเทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรี กัน เทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรี หัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกเทศมนตรี) และสมาชิกสภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งคู่ และในขณะเดียวกัน นายกเทศมนตรีสามารถมี "ผู้ช่วย" ได้เช่นกัน แต่ผู้ช่วยของนายกเทศมนตรีในรูปแบบนี้จะไม่เรียกว่า "เทศมนตรี" แต่จะเรียกว่า "รองนายกเทศมนตรี" ซึ่งจำนวนของรองนายกเทศมนตรีจะมีได้เท่าใดขึ้นอยู่กับขนาดของเทศบาลตามที่ได้อธิบาย ไปแล้ว
หน้าที่และอำนาจของ นายกเทศมนตรี มีอะไรบ้าง
อำนาจและหน้าที่ของ นายกเทศมนตรี คือ มาตรา 48 เตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2543 ได้กำหนดไว้ ดังนี้
1. กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาล ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเทศบัญญัติ
2. สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล
3. แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี
4. วางระเบียบเพื่อให้งานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
5. รักษาการให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ
6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น
บทบาทหน้าที่ของ "สภาเทศบาล" มีอะไรบ้าง
สำหรับหน้าที่ของสภาเทศบาล ที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการ ดังนี้
1. หน้าที่ในการสะท้อนความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาล เช่น รับฟังปัญหา ความต้องการ ตลอดจนข้อร้องเรียน ต่าง ๆ ของประชาชนในเทศบาล แล้วนำข้อเรียกร้องเหล่านั้นเสนอต่อฝ่ายบริหารให้ฝ่ายบริหารดำเนินการแก้ไขให้ หรือในบางเรื่องที่สมาชิกสภาเทศบาลสามารถกระทำได้เอง สมาชิกสภาเทศบาลก็จะดำเนินการแก้ไขได้เลย หรือหากในบางเรื่องอยู่เกินขอบเขตอำนาจที่เทศบาลจะดำเนินการได้ สมาชิกสภาเทศบาลก็จะทำหน้าที่ในการประสานไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
2. หน้าที่ในการออกเทศบัญญัติ คือ หน้าที่ในการออกกฎหมายหรือเทศบัญญัติ หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ที่ชัดเจนที่สุดในการทำงานของสภาเทศบาล กล่าวคือ สภาเทศบาลทำหน้าที่เป็นองค์กรทางนิติบัญญัติในเทศบาล ทำหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรอง และอนุมัติกฎหมายต่าง ๆ ว่าควรบังคับใช้ในเขตเทศบาลหรือไม่ และเมื่อพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว สมาชิกสภาเทศบาลจึงจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างเทศบัญญัติเพื่อบังคับใช้เป็นเทศบัญญัติต่อไปหรือไม่
หน้าที่ในประการนี้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ที่กำหนดว่า "เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมาย"
3. หน้าที่ในการตรวจสอบ และถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คือ หน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการท างานของฝ่ายบริหารนั้น สภาเทศบาลมีวิธีการในการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างน้อย 3 วิธีได้แก่
1. การตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหาร เพื่อให้ฝ่ายบริหารตอบกระทู้ที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหาและให้ฝ่ายบริหารชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแนวทางเพื่อด าเนินการแก้ไขต่อไป ดังมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2546
2.การตรวจสอบการทำงานโดยคณะกรรมการสามัญและคณะกรรมกาวิสามัญของสภาเทศบาลคณะกรรมการสามัญและวิสามัญของสภาเทศบาล มีหน้าที่หลักในการกระทำกิจการใด ๆ ตามที่สภามอบหมายให้ดำเนินการ เช่น สืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง ศึกษาถึงความเป็นไปได้ หรือลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เทศบาลเป็นต้น และเมื่อได้ดำเนินการไปเช่นไร กรรมการดังกล่าวต้องรายงานผลการดำเนินงานนั้นให้สภาเทศบาลรับทราบด้วย
3. การเสนอเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในเขตเทศบาล การตรวจสอบการทำงานในประการนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายว่า "ในกรณีกิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของเทศบาลหรือประชาชนในท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือคณะเทศมนตรีอาจเสนอต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่นได้ และประกาศให้ประชาชนทราบ การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่ง…”
ซึ่งกฎหมายได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิเข้ามาช่วยฝ่ายบริหารตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญต่อเทศบาลได้ง่ายขึ้น ซึ่งการให้ความเห็นของประชาชนนี้จะสามารถกระทำได้ก็ต้องได้รับการเสนอจากสมาชิกสภาเทศบาลเสียก่อน
งบประมาณของเทศบาล มาจากอะไรบ้าง
- ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- ภาษีบำรุงท้องที่
- ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าปรับ
- ภาษีป้าย
- อากรฆ่าสัตว์ ฯลฯ
นอกจากรายได้ที่จัดเก็บเองแล้ว เทศบาลยังมีรายรับจากงบประมาณส่วนกลางและเงินอุดหนุนที่จัดสรรโดยรัฐบาลอีกด้วย
ทำไมต้องไปเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี - สมาชิกสภาเทศบาล 2568
หากไม่เลือกคนดี คนมีวิสัยทัศน์ งบประมาณอาจถูกใช้ไม่ตรงเป้า หรือไม่โปร่งใส เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามและตรวจสอบคนที่เรามีส่วนเลือกมาจะกล้าทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนเสียงของชุมชน ปัญหาพื้นที่แต่ละที่ต่างกัน คนในพื้นที่เท่านั้นที่รู้ดีว่าควรแก้แบบไหน การไปเลือกตั้งคือการแสดงเจตจำนง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "นายกเทศมนตรี- สมาชิกสภาเทศบาล" อย่าลืมออกไปใช้สิทธิของตน ในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 - 17.00 น.
อ่านข่าว : แบบไหน บัตรดี-บัตรเสีย? รู้ไว้ก่อนกากบาทเลือกตั้งเทศบาล 2568
เปิดปฏิทินการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล-นายกเทศมนตรี 2568
จู่ ๆ ก็ "ง่วงฉับพลัน" เรื่องเล็ก ๆ ที่บ่งบอกปัญหาใหญ่ในสมอง