วันนี้ (1 พ.ค.2568) คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เชิญหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ชี้แจงกรณีปัญหาปฏิบัติการ Information Operation หรือ IO ในสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานด้านความมั่นคง
นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวว่า เรื่อง IO ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลายครั้งและมีการใช้ปฏิบัติการ IO ทั้งต่อประชาชน นักวิชาการ รวมถึงนักการเมือง จึงต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาและจัดการเรื่องนี้อย่างชัดเจน
เราไม่ควรเห็นการใช้เงินภาษีของประชาชนในการทำข้อมูลข่าวสารแบบนี้ ที่เต็มไปด้วยเฟกนิวส์ สร้างความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับอุดมการณ์ของกองทัพ อุดมการณ์ของทหารไทย และทำไมเราต้องปล่อยให้ปฏิบัติการแบบนี้ยังมีอยู่
นายรังสิมันต์ ยืนยันว่า ไม่ขัดหากกองทัพจะมี IO หรือปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารในการรบระหว่างประเทศ เพราะมีความจำเป็น เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตนเอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือแทนที่จะนำเครื่องมือนี้ไปเตรียมความพร้อม หรือใช้ในเหตุการณ์ที่มีสงคราม แต่กลับนำมาปฏิบัติกับคนในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เพราะเป็นการทำลายความั่นคงของชาติ
ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวอีกว่า การที่กองทัพนำเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาสำหรับทำสงครามกับรัฐอื่น มาใช้กับคนในประเทศ เป็นการใช้เครื่องมือผิดประเภท จึงทำให้สภาฯ ไม่ไว้วางใจให้ใช้เครื่องมือแบบนี้อีกต่อไป

สำหรับการประชุมวันนี้ (1 พ.ค.) ประธานในที่ประชุมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังในช่วงแรก พบว่า หน่วยงานความมั่นคงทั้ง กอ.รมน., กระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายทำปฏิบัติการ IO แต่เป็นการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในการทำงานของหน่วยงาน และบทบาทหน้าที่ของทหารในการป้องกันประเทศ ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงสนับสนุนงานของรัฐบาล
ขณะที่ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ย้ำว่า กองทัพบกไม่มีการทำ IO แต่ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในการเสริมสร้างความเข้าใจและแก้ไขสิ่งที่เข้าใจผิด ด้วยวิธีประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อตอบโต้เรื่องที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ทั้งหมดเป็นการกระทำโดยเปิดเผย
นโยบายของกองทัพ ไม่เคยคิดว่าความเข้าใจผิดทั้งหมดเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เป็นผลดีที่จะทำให้เราได้ชี้แจง จึงไม่มีลักษณะก้าวร้าวหรือทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีต่อกัน ดังนั้นจึงไม่เรียกว่าปฏิบัติการ IO แต่คือการสร้างความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้
โฆษกกองทัพบก กล่าวอีกว่า การดำเนินการตอบโต้ กองทัพจะเน้นเป้าหมายบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งในกลุ่มมีทั้งนักการเมืองและนักวิชาการด้วย เนื่องจากสังคมให้ความสนใจ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ จะเป็นบุคคลที่มีทัศนคติไม่ดีกับทหาร เป้าหมายคือต้องการให้สังคมรับรู้ข้อมูลอีกด้าน ดังนั้นการติดตามจากกองทัพไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะสุดท้ายก็ต้องต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ยังยืนยันว่าไม่ได้ตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ต้องการชี้แจงให้สังคมเห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งเท่านั้น โดยกองทัพใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารเป็นหลัก ซึ่งหากพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ก็มีขั้นตอนการดำเนินการ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเรื่องการหมิ่นประมาท ส่วนเพจต่าง ๆ ที่อ้างชื่อเป็นทหาร สื่อเนื้อหาโจมตีนักการเมืองนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่หน่วยงานกองทัพ และหากพบเพจในลักษณะนี้ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง
อ่านข่าว
กลุ่มพยาบาลฟอกไตร้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ สธ.
วิโรจน์จวกสรรพากร! คกก.ภาษีฯ ไม่ครบทำคดีตั๋ว PN นายกฯ ไม่ได้