ประเทศไทยเข้าสู่ "ฤดูฝน 2568" มาพร้อมกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่พบบ่อยในช่วงนี้ เช่น "ไข้หวัดใหญ่" และ "โควิด-19" การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ความละเลยป้องกันตนเอง
อัปเดต 2568 สถานการณ์ล่าสุด โควิด-19
สถานการณ์โควิด - 19 ในประเทศไทย วันที่ 1 มกราคม - 8 พฤษภาคม 2568
- ผู้ป่วยสะสม 41,197 คน
- ผู้เสียชีวิตสะสม 15 คน
ข้อมูลรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4 - 8 พฤษภาคม 2568
- ผู้ป่วยสะสม 7,013 คน
- ผู้เสียชีวิตสะสม 1 คน
ข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 8 พ.ค.68 ว่า ผู้ป่วยปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 ที่มีผู้ป่วยมากถึง 7.7 แสนคน เสียชีวิตอยู่ที่ 200 คน และขณะนี้ยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30 - 39 ปี และกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี ตามลำดับ
โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำฤดูกาล
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ระบุเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้โรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนสถานะเป็น "โรคประจำฤดูกาล" หลังการระบาดใหญ่ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี โดยแนวโน้มการระบาดในปีนี้ ยังคงเป็นไปตามฤดูกาล เช่นเดียวกับ 2 ปีที่ผ่านมา
ปีนี้มีฝนตกชุกตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีการระบาดมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ความรุนแรงของโรค ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก
จุดสูงสุดของจำนวนผู้ป่วยจะเป็นเดือน พฤษภาคม และ มิถุนายน เป็นช่วงที่นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนจะเป็นผู้ที่ขยายโรคได้มากขึ้น และเมื่อเข้าสู่เดือน กรกฎาคม การระบาดจะเริ่มลดลง แต่ก็ยังสามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี
อัตราการเสียชีวิตลดลงมาโดยตลอดทุกปี หลังจากเปลี่ยนเข้ามาเป็นโรคประจำฤดูกาล ในปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 220 คน และในปีนี้ ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว ก็เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วมาก
ศ.นพ.ยง ชี้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลดการระบาดคือ การป้องกันแบบที่ไม่ใช้ยา หรือวัคซีน (Non Phamaceutical Intervention) ที่เรียกว่า NPI ซึ่ง ในปัจจุบัน สำคัญกว่าการให้วัคซีนเสียอีก เช่น ล้างมืออย่างถูกวิธี สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยหรืออยู่ในที่แออัด รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก
ส่วนของวัคซีนในปัจจุบันไม่มีความจำเป็น และเมื่อเจ็บป่วยเกิดขึ้น ถ้าร่างกายแข็งแรงดี ก็รักษาตามอาการ โรคจะหายไปได้เอง ยกเว้นผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก มีโรคประจำตัวร้ายแรง ก็ควรพบแพทย์เพื่อได้รับยาต้านไวรัส เมื่อปีนี้ผ่านไป ไวรัสนี้ไม่ได้หายจากไป ปีหน้าตามฤดูกาลก็จะกลับมาอีก และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า แม้ในอดีตโควิด-19 รุนแรงมากมีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 1 และมีอัตราการลงปอดเป็นปอดบวมสูงมากโอกาสต้องนอนโรงพยาบาลสูง แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ และฉีดวัคซีน และไวรัสโควิดก็ลดความรุนแรงของโรคลงมา ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
เปรียบเทียบได้กับไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เพราะเคยเป็นมาแล้ว ยกเว้นมีร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัว ก็เป็นเช่นเดียวกันกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆที่อาจจะรุนแรงขึ้น
เทียบวัคซีนโควิด-19 กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ทำไมต้องให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งที่ความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่กับโควิด ไม่ต่างกันมาก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 40 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หวังป้องกันความรุนแรงของโรค แต่ยังแนะนำให้ฉีดโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้กันมานานมากแล้วร่วม 50 ปี มีราคาถูกและอาการข้างเคียงต่ำ เมื่อมาเปรียบเทียบกับวัคซีนโควิดในปัจจุบัน โควิดไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อน้อยมาก วัคซีนมีราคาแพงมาก มากกว่าไข้หวัดใหญ่เกือบ 10 เท่า และมีอาการข้างเคียงมากกว่า
ศ.นพ.ยง แนะนำว่า ให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง โดยทางภาครัฐสนับสนุน ให้ได้ฉีดฟรี ส่วนวัคซีนโควิด เมื่อคิดถึงความคุ้มทุน และประโยชน์ที่ได้ เมื่อโรคลดความรุนแรงลง โดยส่วนตัวจึงไม่แนะนำ และหากป่วยให้รีบให้การรักษาเพราะมียาที่มีประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ยังได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เชื้อโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XEC ซึ่ง "ผู้ที่เคยเป็นมาแล้ว เป็นซ้ำได้อีก และส่วนใหญ่ จำนวนมากไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ มีอาการน้อย แต่แพร่กระจายได้ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว"
โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน XEC คืออะไร
เห็นได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังในหลายสายพันธุ์ แต่มีการนการจับตาสายพันธุ์ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสม ที่พบระบาดในช่วงนี้ คืออะไร และ คนที่ได้รับเชื้อจะมีอาการอย่างไร ชวนมาเช็กกัน
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Center for Medical Genomics) ระบุว่า โควิดสายพันธุ์ XEC เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ซึ่งมาจากลูกหลานของสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเกิดการระบาดขึ้นเมื่อต้นปี 2567 โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนเพียงเล็กน้อย และมีการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี และถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) โดย WHO
XEC มีคุณสมบัติในการแพร่เชื้อสูงเช่นเดียวกับสายพันธุ์ โอมิครอน อื่นๆ อาการโดยทั่วไปคล้ายกับ โอมิครอน สายพันธุ์อื่นๆ คือมักส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย คัดจมูก) และไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
ขณะที่ข้อมูลของ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเกี่ยวกับ อาการของโควิดสายพันธุ์ XEC ว่า มีอาการคล้ายกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่น ๆ และโรคทั่วไปเช่นหวัดและไข้หวัดใหญ่ หน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอณาจักร ระบุอาการหลัก ตัวอย่างเช่น
- มีไข้สูงหรือหนาวสั่น
- สูญเสียหรือเปลี่ยนแปลงการรับกลิ่นหรือรส
- หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยล้าหรือหมดแรง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ปวดศีรษะ เจ็บคอ
- คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
- เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบายหรืออาเจียน
วิธีป้องกันโควิด-19 ในปี 2568
ถึงแม้ว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และความรุนแรงของโรคลดลง แต่การป้องกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงและในช่วงที่มีการระบาดสูง จึงมีข้อแนะนำวิธีป้องกัน ดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือระบบขนส่งสาธารณะ ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- หากมีอาการสงสัย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ควรตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ทันที หากผลเป็นบวก ควรกักตัว และแจ้งผู้ใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังอาการ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี หรือมีผู้คนหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดสูง หากจำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ควรเว้นระยะห่าง
- รักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือบ่อยๆ ใช้สบู่และน้ำสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสพื้นผิวสาธารณะหรือก่อนรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใช้ช้อนกลางและภาชนะส่วนตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน
- เฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังไม่นำเชื้อเข้าบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่อาจติดเชื้อจากโรงเรียนและนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ
- หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หรือไข้สูงต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์ทันที
เมื่อไรควรตรวจ ATK - โควิดหายภายในกี่วัน
หากมีเชื้อโควิดในร่างกายไม่มาก การตรวจโควิดด้วย ATK อาจไม่พบเชื้อ ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่สบาย เช่น เจ็บคอมาก มีไข้ต่ำ ๆ ควรหมั่นตรวจ ATK เรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการ หากอาการแย่ลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเหมาะสม
ส่วนระยะเวลาการหายจากโควิดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปริมาณเชื้อ สายพันธุ์ของไวรัส และระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการน้อยหรือร่างกายแข็งแรง อาจหายได้ภายในไม่กี่วัน ขณะที่บางรายอาจต้องใช้เวลานานขึ้นในการฟื้นตัว
สุดท้าย ไม่ตื่นตระหนก แต่ต้องไม่ประมาท
อ้างอิงข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค
อ่านข่าว : "แม่น้ำกก" วันนี้เหมือน "คลิตี้" ในวันวาน
"ทรัมป์" เยือนซาอุฯ ปิดดีลขายอาวุธครั้งใหญ่-ยกเลิกคว่ำบาตรซีเรีย