ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ ด้วย Cartesian Robot


Logo Thai PBS
แชร์

หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ ด้วย Cartesian Robot

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2548

หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ ด้วย Cartesian Robot
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อ “นวัตกรรม” ผสานกับ “ความเชื่อ” จนกลายมาเป็น "หุ่นยนต์สายมูเตลู" เขียนยันต์ด้วย Cartesian Robot ผลงานการออกแบบและพัฒนาโดยนักศึกษาชั้นปี 4 จาก FIBO

ในโลกที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด การผสานนวัตกรรมเข้ากับวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิมอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ผลงานของนักศึกษาจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า “นวัตกรรม” กับ “ความเชื่อ” สามารถเดินไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

ผลงาน “หุ่นยนต์ลงยันต์” ด้วย Cartesian Robot ออกแบบและพัฒนาโดย “ภัทรนรินทร์ มากรักษ์” และ “อัญชิสา พิริยะกฤต” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. (FIBO) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อของคนไทยที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะ "ยันต์" ซึ่งมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาและความคุ้มครอง

ในสังคมไทย ความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมานาน เมื่อผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ จึงเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ หุ่นยนต์ที่สามารถเขียนเอกสารได้คงไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน แต่การพัฒนาให้เขียน "ยันต์" ได้อย่างแม่นยำและสวยงาม กลับเป็นเรื่องใหม่ที่สะท้อนถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อสืบสานความเชื่อของคนไทยได้เป็นอย่างดี

อัญชิสา อธิบายว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้ระบบการทำงานแบบ “Cartesian Robot” เป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ในระบบพิกัดฉาก (Cartesian coordinate system) โดยใช้การเคลื่อนที่แบบเป็นเส้นตรงในแนวแกน X, Y และ Z ซึ่งเหมือนกับแกนพิกัดที่ใช้กันในคณิตศาสตร์ หุ่นยนต์จะทำงานตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในโปรแกรม โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกลายยันต์ที่ต้องการผ่านเว็บไซต์ที่ทีมผู้พัฒนาออกแบบขึ้นโดยเฉพาะ

“ภายในงานครบรอบ 30 ปี FIBO ได้มีการจัดแสดงหุ่นยนต์นี้ พร้อมกับตัวอย่างยันต์เอ็นเตอร์เทนหลายรูปแบบ เช่น ยันต์กันยุง ยันต์กันยุ่ง ยันต์กันเด้ง ยันต์กันดั้ม ยันต์กันง่วง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสร้างสรรค์ในการออกแบบและการใช้งาน” อัญชิสา กล่าว

ด้าน ภัทรนรินทร์ กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงแค่ลวดลายยันต์ที่มีอยู่ในระบบเท่านั้น ผู้ใช้งานยังสามารถออกแบบลายเองและอัปโหลดขึ้นไปบนเว็บไซต์เพื่อให้หุ่นยนต์เขียนตามแบบที่ต้องการได้ โดยสามารถผลิตยันต์ขนาด A4 ได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีของระบบการผลิตขนาดย่อม

“ยันต์มงคลของจริงก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำเพื่อความสวยงามและนำออกไปขายได้ เช่น ยันต์สเน่ห์เมตตา และยังสามารถดัดแปลงไปใช้บนแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การเขียนเอกสารครั้งละ 100-200 ใบ สามารถใช้หุ่นยนต์คาทีเซียนเขียนได้ โดยตั้งค่าโปรแกรมไว้แค่ครั้งแรกเท่านั้น” ภัทรนรินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถประยุกต์ใช้กับงานศิลปะ งานออกแบบดีไซน์ต่าง ๆ บนผืนผ้าได้เช่นกัน

สำหรับการพัฒนาสู่อนาคต อัญชิสา และภัทรนรินทร์ กล่าวว่า ทีมพัฒนาวางแผนที่จะยกระดับให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น เช่น การวางกระดาษทีเดียว 10-20 แผ่น และให้หุ่นยนต์ทำงานเรียงลำดับได้โดยไม่ต้องหยุดพัก โดยใช้งบประมาณในการผลิตเครื่องต้นแบบอยู่ที่ หลักแสนต้น ๆ เท่านั้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับศักยภาพและแนวทางการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย

“หุ่นยนต์ลงยันต์” จึงไม่ใช่แค่นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความศรัทธาแบบไทย ๆ กับโลกของวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์และทรงพลังอีกด้วย

STORY : Thai PBS Sci & Tech 
EDITOR : จิรภัทร สะแกขาว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ปิ้ง ปิ้ง” หุ่นยนต์ปิ้งหมู นวัตกรรมเพื่อ Street Food

หุ่นยนต์ไก่ชน จุดเริ่มต้น (สู่) นักสร้างหุ่นยนต์

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Technologyนวัตกรรมไทยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหุ่นยนต์
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด