ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “แอนแทรกซ์” โรคร้ายในหน้าร้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต


Thai PBS Care

1 พ.ค. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “แอนแทรกซ์” โรคร้ายในหน้าร้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/928

รู้จัก “แอนแทรกซ์” โรคร้ายในหน้าร้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว ฤดูร้อนยังพาเอาเหล่าบรรดา “โรคร้าย” ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มาด้วย หนึ่งในนั้นคือ “โรคแอนแทรกซ์” หลายคนคุ้นหูคุ้นตากับชื่อโรคนี้ Thai PBS ชวนมาทำความรู้จักกับ โรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันความร้ายแรงจากโรคนี้ 

“โรคแอนแทรกซ์” คืออะไร ?

โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด อาทิ ช้าง เก้ง กวาง หรือสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร สุนัข แมว ที่สำคัญกว่านั้น เชื้อแอนแทรกซ์ สามารถติดต่อมาสู่คนได้

สัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ พาหะแพร่เชื้อแอนแทรกซ์มาสู่คน

อาการของโรคแอนแทรกซ์ ที่พึงสังเกต ?

ชาวบ้านเรียกโรคแอนแทรกซ์อีกอย่างว่า โรคกาลี โรคนี้มีมาแต่โบราณ สาเหตุของโรค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) หากเกิดขึ้นในสัตว์ มักพบว่ามีไข้สูง ไม่กินหญ้า มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด

บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำ ไม่แข็งตัว ซากสัตว์ที่ตายมีลักษณะนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้

กรณีที่เกิดในคน หากเกิดบริเวณผิวหนัง จะเริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อ ตามมาด้วยเป็นตุ่มแดง และกลายเป็นตุ่มพองมีน้ำใส เมื่อเริ่มยุบ ตรงกลางจะมีลักษณะเป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ มีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 95 เป็นชนิดแผลที่ผิวหนัง

โรคแอนแทรกซ์ที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง

แต่หากเกิดโรคแอนแทรกซ์ ขึ้นบริเวณทางเดินหายใจ มักมีอาการไข้ ปวดเมื่อย หรือเจ็บหน้าอก รวมถึงหายใจมีเสียงดัง หายใจลำบาก เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ และทำให้เสียชีวิตได้

กรณีที่พบเชื้อในทางเดินอาหาร อาจเกิดในจุดใดจุดหนึ่งของลำไส้ และเกิดการอักเสบ รวมทั้งมีอาการบวมน้ำ โอกาสในการเสียชีวิตมักพบร่วมกับอาการเลือดเป็นพิษ จนเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด

สาเหตุของการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์มาจากอะไร ?

อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา โดยแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง เกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล ส่วนแอนแทรกซ์ที่ทางเดินหายใจ เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่มีโรค ส่วนแอนแทรกซ์ในระบบทางเดินอาหาร มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ

ความรู้เกี่ยวกับสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์

เนื่องจากแอนแทรกซ์ไม่สามารถแพร่โดยตรงจากสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ ไปยังอีกคนหรือสัตว์ตัวอื่น ๆ ได้ แต่มีตัวแปรสำคัญในการแพร่เชื้อ นั่นคือ สเปอร์ ซึ่งสปอร์เหล่านี้สามารถส่งผ่านได้โดยเสื้อผ้าหรือรองเท้า รวมทั้งร่างกายของสัตว์ที่มีแอนแทรกซ์อยู่ในช่วงที่ตาย เป็นแหล่งสปอร์ได้

สาเหตุที่ทำให้สปอร์อยู่รอดได้ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีคุณสมบัติ ดังนี้

มีโครงสร้างหลายชั้นที่แข็งแกร่ง 

  • สปอร์มีโครงสร้างชั้นนอก (exosporium) ที่ทนทานต่อสารเคมีและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง 
  • มีชั้นเปลือกหุ้ม (spore coat) หนา ที่ป้องกันการทําลายจากสารเคมีและเอนไซม์
  • มีชั้นคอร์เทกซ์ (cortex) ที่ช่วยป้องกันความร้อนและการขาดน้ำ
  • โครงสร้างชั้นในสุด (core) มีการขจัดน้ำออกเกือบหมด ทําให้เมแทบอลิซึมหยุดชะงัก
     

ความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม

  • ทนต่ออุณหภูมิสูงถึง 140 องศาเซลเซียส ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
  • ทนต่อรังสี UV แสงแดด การแห้ง และสภาพกรด-ด่างที่รุนแรง สามารถอยู่รอดในดินได้นานกว่า 50 ปี ในสภาวะที่เหมาะสม
  • ยังคงมีชีวิตในสภาพที่ขาดออกซิเจนหรือสารอาหาร
    กลไกการปกป้องดีเอ็นเอ
  • มีโปรตีนพิเศษ small acid-soluble proteins (SASPs) ที่ห่อหุ้มดีเอ็นเอไว้ 
  • โปรตีนเหล่านี้ ช่วยป้องกันความเสียหายจากรังสี UV และความร้อน
  • มีไดพิโคลินิกแอซิด (dipicolinic acid) และแคลเซียมในปริมาณสูงที่ช่วยเสถียรภาพของดีเอ็นเอ

การงอกใหม่ (Germination) หนึ่งในปัจจัยที่จัดการได้ยาก

  • สปอร์สามารถตรวจจับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ในร่างกายสัตว์หรือมนุษย์
  • เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม สปอร์จะงอกเป็นเซลล์แบคทีเรียที่ทํางานได้ภายในไม่กี่นาที 
  • กระบวนการนี้จะปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้ติดเชื้อ

สาเหตุที่ยากต่อการกําจัด

  • สารฆ่าเชื้อทั่วไปไม่สามารถทําลายสปอร์ได้
  • ต้องใช้สารฆ่าเชื้อที่มีความเข้มข้นสูงและเวลาสัมผัสนาน เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ กลูตารัลดีไฮด์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูง
  • ต้องใช้ความร้อนชื้นที่อุณหภูมิสูงเกิน 121 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที หรือความร้อนแห้งที่อุณหภูมิ 160-170 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • รังสีแกมมาขนาดสูงสามารถฆ่าสปอร์ได้ แต่ไม่สามารถใช้ในสถานการณ์ทั่วไป

พบโรคแอนแทรกซ์ได้มากในช่วงไหน ?

โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคที่พบมากในช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝน สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป

ใครที่ต้องระวังการติดโรคแอนแทรกซ์เป็นพิเศษ ?

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรคแอนแทรกซ์ คือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส ได้แก่

  • เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
  • ผู้ที่ทำงานในฟาร์มปศุสัตว์
  • คนแล่เนื้อ
  • สัตวแพทย์, สัตวบาล
  • เจ้าหน้าที่ตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ

หลักการง่าย ๆ เพื่อป้องกันการติดโรคแอนแทรกซ์

  • ควรระมัดระวังด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังของสัตว์ต่าง ๆ
  • ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงจนสุกดี
  • เมื่อมีสัตว์ตาย ควรจัดการอย่างระมัดระวังและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสมอ 
  • เมื่อสงสัยว่าสัตว์ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องที่
  • ไม่ควรเปิดชำแหละซากสัตว์ที่ตาย เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงทุกปี

การกําจัดซากสัตว์ที่ตายจากโรคแอนแทรกซ์อย่างถูกวิธี

ไม่เคลื่อนย้ายซากโดยไม่จําเป็น – ควรกําจัดซากในบริเวณที่พบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

วิธีการกําจัดที่แนะนํา
การเผา – วิธีที่ดีที่สุดคือการเผาซากที่ต้องสงสัยให้สมบูรณ์ที่อุณหภูมิสูงเกิน 1,000 องศาเซลเซียส ในเตาเผาซากสัตว์โดยเฉพาะ
การฝัง - หากไม่สามารถเผาได้ ต้องฝังซากในหลุมลึกอย่างน้อย 2 เมตร โรยปูนขาวรอบซากหนาอย่างน้อย 20 ซม. และกลบดิน หนาอย่างน้อย 1 เมตร

ห้ามฝังซากที่ต้องสงสัยว่ามีเชื้อแอนแทรกซ์ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดิน

การฆ่าเชื้อบริเวณที่พบซาก

  • พื้นที่ที่มีการปนเปื้อนต้องได้รับการฆ่าเชื้อด้วยสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ 10% หรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว) ที่มีความเข้มข้นคลอรีนอย่างน้อย 5,000 ppm
  • รัศมีการฆ่าเชื้อควรกว้างกว่าบริเวณที่พบซากอย่างน้อย 5 เมตร

การบันทึกพิกัดและแจ้งเตือน

  • ต้องบันทึกพิกัด GPS ของสถานที่ฝังหรือพบซาก
  • ทําเครื่องหมายพื้นที่ไว้อย่างชัดเจนและแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นให้ทราบ ห้ามใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อเลี้ยงสัตว์หรือทําการเกษตรอย่างน้อย 10 ปี

การจัดการอุปกรณ์และเครื่องมือ

  • อุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้จัดการซาก ต้องได้รับการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ 
  • ชุด PPE ที่ใช้แล้ว ควรเผาทําลาย ไม่ควรนํากลับมาใช้ช้ำ

การชําระล้างตัวบุคคล

  • ผู้ที่สัมผัสซากที่ต้องสงสัยว่ามีเชื้อแอนแทรกซ์ ต้องอาบน้ำและฟอกสบู่อย่างทั่วถึงทันทีหลังเสร็จภารกิจ 
  • เสื้อผ้าทุกชิ้นต้องซักด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอกฆ่าเชื้อ

การป้องกันในเรื่องสุขอนามัยเบื้องต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพื่อไม่ให้โรคร้ายแรงนี้ระบาดในประเทศไทย 

อ้างอิง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โรคแอนแทรกซ์โรคติดต่อร้ายแรงโค กระบือโรคระบาด
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด